มุมสดใสที่ปลายฟ้า…อันเนื่องมาจากเรื่องเมืองเขมร

หวังว่าเพื่อนๆ คงหายขวัญผวาจากเรื่องสาวน้อยเปิดทีวีของเปียกันแล้ว

เลยคิดว่า…เพื่อความต่อเนื่องทางภูมิภาค จะขอเล่าเรื่องของคนเวียดนามให้ฟัง

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าเพื่อนๆ อ่านเรื่องนี้แล้วอาจขำกลิ้งพร้อมปุจฉาว่า “จริงอ่ะ”

ที่ว่า “จริงอ่ะ” คือต้นของต้นของต้นเรื่องเลยคือเราสอนภาษาไทยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คร้าบบบ…ฟังไม่ผิด…หนึ่งที่สอบตกวิชาคาแรคไทยแลงฯ ได้คะแนนรั้งท้ายสุดของชั้นปีนี่แหละสอนภาษาไทยที่ซีแอตเติ้ล

เป็นแนวการสอนแบบเน้นบันเทิง เฮฮา เนื้อหาเบๆ  กอ อะ กะ กอ อา กา ไปตามเรื่อง ไม่ใช่ภาษาไทยแบบซับซ้อน เป้าหมายของแต่ละคอร์สก็แล้วแต่ว่าสอนใคร หลักๆ เลยก็เพื่อให้สื่อสารกับคนไทยได้ อ่านออกบ้าง เขียนได้บ้าง จะสั่งก๋วยเตี๋ยว จะบอกมอไซค์ไปไหนได้ไม่หลงทิศ

แรกเริ่มเลยคือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเจ้าอาวาสวัดอตัมฯ ที่อยู่แถวบ้านเรียกไปสอนภาษาไทยให้เด็กประถมที่โรงเรียนวันอาทิตย์ ปัจจุบันนักเรียนชุดแรกก็เติบใหญ่ บางคนทำงานระดับแมเนเจอร์ในบริษัท Fortune 500 กันแล้ว

ถัดมามีพ่อแม่เอาลูกมาฝากให้เรียนตัวต่อตัว นับได้หลายคนอยู่ บรรดาพ่อแม่คงเห็นว่าครูคนนี้แปลกดี เลยหวังให้ลูกได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ

นักเรียนที่ทนเรียนได้นานที่สุดคือยาหยี หยีเป็นเด็กที่มีพื้นฐานภาษาไทยดีอยู่แล้ว และยังได้เปรียบที่พูดภาษาไทยกับแม่ตลอดเวลา หยีมาเรียนทุกวันพุธอยู่หลายปี เรียนกันบ้าง เล่นกันมากหน่อย พากันเดินหมาบ้าง ตามอัธยาศัยครูกับศิษย์ เริ่มตั้งแต่อายุประมาณสิบขวบ จนเลิกตอนก่อนเข้าเรียนไฮสคูล

สอนหยีนี่ไม่ยากเลย หาหนังสือสนุกๆ ให้อ่าน อ่านแล้วก็เขียนสรุปที่อ่าน หยีอ่านได้หลายเล่มอยู่ มาจบที่เล่มสุดท้ายคือความสุขของกะทิ

อ่านแล้วหยีขัดใจตอนจบ เลยบอกให้เขียนตอนจบเอาเองตามใจชอบ หยีก็เขียนไปตามที่คิดว่าความสุขของกะทิควรจะเป็นเช่นไร

เป็นความภูมิใจของครูหนึ่งอย่างมาก

จากนั้นไม่นาน Bellevue College แถวบ้านก็เรียกไปสอนภาษาไทยสำหรับคนทั่วไป เป็นห้องเรียนภาคค่ำ เราก็จัดหลักสูตรเองตามสบาย ที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องของคลาสนึงโดยเฉพาะ คลาสนี้มีคนลงทะเบียนเรียนสักสิบห้าคนได้ มีตั้งแต่อายุสิบแปดไปจนถึงวัยเกษียณ มีหลายหลายอาชีพตั้งแต่นักเรียนไฮสคูล นักข่าว ไอที ฯลฯ ที่มาเรียนกันก็หลากหลายเหตุผล มีพ่อไทย แม่ไทย เมียไทย จะแต่งงานกับคนไทย ชอบอาหารไทย หรือเพียงเพราะรักเมืองไทยเหลือเกิน เหตุผลที่คล้ายๆ กันเกือบทุกคนคือมาเรียนเพื่อรักษาหรือรื้อฟื้นภาษาไทย เรียนไปเรียนมาก็หายไปสักสี่ห้าคน เหลือเรียนเพลินๆ สักสิบ สิบเอ็ดคน

คลาสนี้มีความท้าทายที่ถือว่าโชคดีที่ได้เจอ เพราะมีนักเรียนเป็นออติสติคถึงสองคน ไปกันคนละขั้ว คนแรกเรียนภาษาต่างประเทศมาแล้วสิบห้าภาษา มาเพิ่มเติมให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สิบหก ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นน้องนุชสุดท้องของห้อง เป็นออติสติคแบบไม่พูดไม่จา ถึงจะสื่อสารกันยากสักนิด แต่น้องก็ตั้งใจเรียนเต็มที่

แม้จะมีความหลากหลายทั้งทางอายุ อาชีพ ประสบการณ์ชีวิต แต่กลุ่มนี้เข้ากันได้อย่างดี การที่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานภาษาไทยมาแล้ว ครูเลยเหมือนเป็น entertainer มากกว่าเป็นครู จัดให้มี field trip ระหว่างเทอม พากันไปกินอาหารไทยเป็นที่สนุกสนาน

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การเรียนย่อมมีวันสุดท้าย ก่อนจากกันเราให้ทุกคนเขียนเรียงความตามถนัดมาคนละเรื่อง แล้วมาสลับกันอ่านของเพื่อนให้ทั้งคลาสฟัง เราก็บอกนักเรียนว่าอย่าห่วงว่าจะต้องเขียนหรืออ่านได้เต็มร้อย ตรงไหนไม่ได้ก็ภาษาอังกฤษแทรกแซมเข้าไป เอาเป็นเราเข้าใจและสื่อสารกันได้เป็นพอ

คลาสวันนั้นอยู่ประมาณกลางๆ เดือนมิถุนายน ปลายฤดูใบไม้ผลิ กำลังจะเข้าหน้าร้อนเต็มทีแล้ว เรานัดให้นักเรียนมาเจอกันที่พาร์คแถวบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมเป็นตู้ยิ่งดูยิ่งเพลินมาเป็นกลางแจ้ง

เวลานั้นพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน อากาศไม่หนาว ไม่ร้อน ท้องฟ้ากำลังโพล้เพล้ ไม่ถึงกับมืด แต่ก็ไม่ได้สว่างแจ้ง บรรยากาศรอบตัวสงบ แต่ไม่ถึงกับสงัด เหมือนหยุดอยู่ใน neutral zone บอกไม่ถูก

ก่อนเริ่มคลาสนักเรียนส่งเรียงความให้เราอ่านก่อนเพื่อให้เราแจกให้ทุกคนผลัดกันอ่าน เมื่ออ่านเรียงความครบทุกฉบับแล้ว เราเจาะจงเลือกให้คุณแอนโทนี่อ่านเรียงความของตัวเองเป็นคนสุดท้ายของวันนั้น โดยไม่ต้องสลับเรื่องกับใคร

คุณแอนโทนี่เป็นคนเวียดนามที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยช่วงหนึ่ง แกตั้งชื่อเรียงความว่า “จนกว่าเราจะได้พบกันอีก”

แกเริ่มอ่านเรียงความเป็นภาษาไทยที่ค่อนข้างชัด น้ำเสียงมั่นคง

เราขอเล่าคร่าวๆ จากความจำ (พร้อม edit) แล้วกันนะ เพราะหาต้นฉบับไม่เจอ

แกบอกว่า…ตอนที่เวียดนามใต้กำลังจะแตก แกอายุประมาณสิบขวบเศษๆ ช่วงนั้นเป็นเวลาของความสับสนวุ่นวาย ครอบครัวแกต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือหนีออกจากเวียดนาม เป็น national dilemma ในเวลานั้น

เย็นวันหนึ่ง ย่าของคุณแอนโทนี่เรียกแกไปกอด ตัดสินใจให้แกออกจากเวียดนามเสี่ยงไปหาอนาคตที่ดีกว่า พร้อมยื่นถุงผ้าใบเล็กเท่าฝ่ามือที่อัดแน่นด้วยเงินก้อนสุดท้ายของย่า มอบให้ไว้เป็นทุนในการเดินทาง ย่าสั่งเสียและสัญญาว่า “อย่าห่วงย่า…แล้วเราจะได้พบกันอีก”

คุณแอนโทนี่ออกจากเวียดนามพร้อมสมาชิกสี่ห้าคนในครอบครัว เดินเท้าเปล่าผ่านประเทศกัมพูชามาประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยคณะแกต้องเดินทางตอนกลางคืนและพักตอนกลางวัน แกบอกว่าเป็นเวลาที่สัตว์ป่าไม่น่ากลัวเท่าคน ใช้เวลาเดินทางนับเดือน นอนกับดินกินกับทรายมาตามทาง เป็นเวลาที่ความแร้นแค้นแสนสาหัสอยู่ครบรูปแบบ จนในที่สุดการรอนแรมจบลงที่ค่ายผู้อพยพที่อรัญประเทศ

คุณแอนโทนี่บอกว่าจะไม่มีวันลืมความรู้สึกเมื่อได้เหยียบแผ่นดินไทย แกบอกว่ามันคือความรู้สึกปลอดภัย มันคือความรู้สึกของความร่มเย็น เป็นความรู้สึกของคนหนีตายเท่านั้นที่จะเข้าใจ

สงครามเวียดนามจบไปนานแล้ว แต่คุณแอนโทนี่ไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทยและคนไทยที่หยิบยื่นความหวังให้คนบ้านแตกสาแหรกขาดเช่นตัวแก

แกไม่ได้พบย่าอีก เพราะย่าเสียชีวิตหลังจากที่แกออกจากบ้านมาได้ไม่นาน

เรียงความมาถึงย่อหน้าสุดท้าย เสียงคุณแอนโทนี่เบาลง ไม่มั่นคงเหมือนตอนเริ่ม…

แม้วันคืนแห่งคำมั่นสัญญานั้นจะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว แต่คุณแอนโทนี่มั่นใจว่าสักวันหนึ่งจะได้พบย่า ได้กอดย่าให้จุใจ…ณ มุมสวยสดใสแห่งหนึ่งแห่งใดที่ปลายฟ้า

1