ผีที่บ้านริมน้ำ  (เกาะหลังเปียมาติดๆค่ะ) หมัด

บ้านริมน้ำที่ผู้เขียนอยากเล่าถึง เป็นบ้านโบราณ สร้างมาก่อนคุณพ่อผู้เขียนเกิดราว สามสี่สิบปี นับเวลาแล้วคงร่วมร้อยปีได้ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดวัดราชาธิวาส  (วัดสมอราย)  อยู่ในชุมชนวัดคอนเซปชัญที่ตั้งบ้านเรือนกันมาราวสามร้อยกว่าปี แต่วัดอายุน้อยกว่าชุมชน เพราะ สร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่สาม แทนวัดเก่า โดยสังฆราชปัลกัว[1] ที่อ่านแบบไทยๆ สมัยก่อนว่า ปัลเลอกัว ระหว่างเขตวัดคริสต์กับวัดพุทธ  (วัดราชา) มีคลองเล็กๆที่มีสะพานไม้ให้เดินข้ามอยู่หน้าบ้าน คลองเล็กๆนี้เคยเป็นที่สานไมตรี สร้างโอกาสสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างท่านปัลเลอกัว และล้นเกล้ารัชกาลที่สี่ เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย  ปัจจุบัน คลองมีเขื่อนเล็กๆสร้างทับ ที่ทำหน้าที่เป็นประตูกั้นน้ำไป
         ตัวบ้านตั้งอยู่บนดินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งริมน้ำเวลาน้ำขึ้น ใต้ถุนบ้านจะกลายเป็นน้ำไป เป็นเรือนไม้สองชั้น เดิมเป็นทรงปั้่นหยา แต่หลังคามักรั่ว เลยเปลี่ยนทรงหลังคาไปตามสมัย  มีนอกชาน กั้นระหว่างตัวบ้านและเรือนไม้สี่ห้องริมน้ำที่สร้างขึ้นให้พี่ๆผู้ชายที่โตแล้วอยู่ เรียกว่าริมน้ำจริงๆเพราะ เวลาน้ำขึ้น ข้างใต้จะเป็นผิวน้ำ หน้าหนาวที่อากาศเย็น ก็จะไม่หนาวมาก หน้าร้อน ก็จะอุ่นสบาย
          ความที่อยู่ริมน้ำ ทำให้ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผีบ่อยๆ ทั้งยังอยู่ในชุมชนที่มีวัดตั้งอยู่ตรงกลางตามแบบหมู่บ้านโปรตุเกสเก่า ด้านหลังวัดจะเป็นที่สำหรับสุสานฝังศพ เรียกว่าใช้ชีวิตในหมู่บ้าน ได้ครบบริบูรณ์ (อิอิ แข็งใจหัวเราะ)
          ที่วัดมีการตีระฆังลูกโต ที่เด็กชายที่วัดยินดีรับหน้าที่ตีระฆังที่แขวนไว้ยอดโบสถ์ เพราะสายเชือกที่ห้อยลงมาจะดึงสองสามคนที่ตีให้ลอยขึ้นลง เป็นที่สนุกสนาน  จังหวะการตีมีการสื่อความหมายต่างๆ เช่น จะบอกให้รู้ว่า วัดเข้าแล้ว  (หมายความว่ามีมิสซาในวัด) หรือ เวลาบ่ายสามโมงตรง ให้สวดยามบ่าย หรือในยามที่มีคนตาย ที่ฝรั่งเรียก bell tolling  ก็จะมีการสื่อสารในหมู่บ้านด้วยเสียงระฆ้งที่มีจังหวะช้ามาก โหวงเหวง ห่างกันอยู่สามครั้ง แต่ละบ้านก็จะส่งเด็กๆออกไปถามที่วัดว่าใครตาย ตั้งศพเมื่อไหร่ จะได้ไปช่วยกันสวดศพ ช่วยกันคนละไม้ละมือ
         ผู้เขียนมักมีจินตนาการกว้างไกล จึงไม่ค่อยออกนอกบ้านในยามกลางคืนค่ะ  เพราะเคยเห็นเงาต้นกล้วยแถวทางเดิน ตอนกลับบ้านในยามพลบค่ำ แปรสภาพไปและหูแว่วๆได้ยินเสียงหัวเราะอิอิ เลยวิ่งเตลิดล้มลุกคลุกคลานเข่าเปิงไป เลือดซิบ จนต้องปิดพลาสเตอร์ไปหลายวัน
         ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องผีริมน้ำ  คือพี่ชายที่อายุราวสิบสี่สิบห้าเล่าให้ฟังในวงกินข้าวว่า เมื่อคืน ตอนดึก อยู่ๆก็นอนไม่หลับ ลืมตาอยู่ ไม่ได้คิดอะไร อยู่ๆขาสั่นไปทั้งตัว
         “อ้าว แล้วทำไง” ทุกคนถาม
         “ก็สวดบทสวดข้าแต่พระบิดาฮะ มันก็เลยหยุดสั่น เลยหลับต่อได้”

         เรื่องที่สอง มาจากป้าสม แม่ครัวกับพวน พี่เลี้ยงคุยกัน พวนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่พึ่งเข้ามาทำงานในบ้าน หน้าตาตื่นปรึกษาแม่ครัวว่า “ ป้า เมื่อคืนตอนดึกหนูลุกไปเข้าห้องน้ำ  เห็นใครก็ไม่รู้เดินเล่นอยู่กลางลานบ้าน”
“ใส่ชุดขาวๆใช่ไหม ไม่ต้องตกใจ นั่นเจ้าที่ ออกมาตอนตีสองตีสามประจำ”
“อ้าว แล้วคนอื่นไม่กลัวกันเหรอ ป้า”
“พวกนี้เค้าเกิดที่นี่ เค้าไม่เคยเห็นกันหรอก”  (ผู้เขียนแอบงง จริง ไม่เคยเห็นค่ะ)
         ป้าสมผู้นี้ เป็นผู้มีความรู้แปลกใหม่ที่ทำให้ผู้เขียนทึ่งเสมอ เช่น เวลาลมพัดแรงมีพายุ ต้อง เอามีดใหญ่ๆไปเสียบไว้ที่ช่องระหว่างกระดานให้ปลอดภัย 

 


[1] เรื่องราวท่านปัลเลอกัวหาอ่านได้ในหอจดหมายเหตุอัครสังฏฆมณทลกรุงเทพค่ะ https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/445-baptiste-pallegoixมีอีกครั้งที่ผู้เขียนประทับใจในท่าเดินของหนุ่มคนนึง ที่ไปเห็นเข้าที่โรงเรียนกวดวิชา ตัวสูงๆ เดินโหย่งๆ ดูเท่ห์มาก ไปเดินให้ป้าสมดู ป้าสมร้องโอ้ย

“คุณ อย่าเดินอย่างนี้ เค้าเรียกเดินขย่มธรณี ใครเดินอย่างนี้ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น”

       เรื่องที่สาม คือ  เรื่องที่พระสงฆ์เทศน์ให้ฟังในวัด (อันนี้ credibility สูงมาก) ว่า
 “พี่น้องครับ เมื่อคืนวาน พ่อได้ประสบกับเรื่องแปลก เลยขอเล่าให้พี่น้องฟัง มีคนเรือ[1] มาหาพ่อ บอกให้ไปช่วยไล่ผีที่สิงคนหน่อย พ่อก็ไป เดินลงไปเรือของเขา คนที่เขาบอกว่าถูกสิงนั่งเหม่อลอย พูดไม่รู้เรื่อง ญาติบอกอาการเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่กลับมาจากงานศพ พ่อก็สวดขอพระจิตเจ้าทรงช่วย ปกมือบนศีรษะเขา พอสวดครบสามครั้ง เขาก็ตื่นขึ้น รู้สึกตัว ญาติถามว่า หิวไหม เขาก็บอก หิวสิ ยังไม่ได้กินอะไรเลย  ญาติบอกเมื่อกี้ เรียกกินข้าว ตัวเองบอกกินแล้ว มีคนเอามาให้กินเยอะแยะไง”  คุณพ่อสั่งสอนต่อ แต่ความที่ผู้เขียนจับประเด็นไม่ค่อยเก่งตามประสาเด็กโง่ น่าเสียดายมาก เพราะคุณพ่อท่านนี้ มีความรู้ความศรัทธา และความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง กลับจำได้แต่เรื่องผี ข้อสอนใจสำคัญ ที่คุณพ่อตั้งใจสอนกลับจำไม่ได้ กลายเป็นเรื่องใกล้เกลือกินด่างไปเสีย

เรื่องที่สี่คือ เสียงเรียกนอกรั้ว
   ในบ้านริมน้ำนี้ มีส่วนที่เป็นห้องยาวติดรั้ว ที่ถูกเรียกว่าเรือนคนใช้ ประตูเข้าบ้านมีสองทาง ประตูแรก คลองด้านหน้าที่เดินออกไปวัดราชา ประตูด้านหลัง เป็นทางเดินเข้าหมู่บ้าน ไปโบสถ์ วัดคอนเซปชัญ เรือนคนใช้นี้จะเป็นส่วนที่ติดรั้วมีสะพานไม้ที่อยู่ด้านหลังของบ้าน มักได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงในยามค่ำคืน เสียงวิ่งของนักฉกชิงวิ่งราว  ภายหลังบิดาของผู้เขียน (ที่เป็นคนสร้างสะพานทางเดินเล็กๆนี้) จึงสร้างประตูปิดล่ามโซ่ อยู่กลางทางเดินหลังบ้าน ไม่ให้ใครผ่านในยามวิกาล ตั้งแต่ สิบเอ็ดโมงไปถึง หกโมงเช้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของชุมชน   แม่ค้าบางคนที่ต้องเดินทางไปตลาดเทเวศร์ ต้องผ่านแต่ตีห้า จะมาเคาะประตูเรียกพี่เลี้ยงให้ไปเปิดให้เสมอ 
       วันหนึ่ง เอียด พี่เลี้ยงได้ข่าวจากทางบ้านว่าแม่ที่ป่วยอยู่เสียแล้ว ตกดึก เธอได้ยินเสียงแม่เรียกชื่อ “เอียด เอียด”
       เธอกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ พอดีป้าสม ที่นอนถัดกันออกไป กระซิบบอกแผ่วๆว่า
“อย่าตอบ เค้าจะมาเรียกเธออยู่สามวันแล้วก็ไป ถ้าเธอตอบเค้าจะมาเรียกเธอทุกวัน!
        
       ต่อมาพวกเราได้ย้ายบ้านจากสามเสนไปอยู่ฝั่งธน ปิดบ้านเก่าไว้เฉยๆ บ้านที่ไม่มีใครอยู่มักทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  คุณแม่ผู้เขียนจึงคิดจะสร้างบ้านใหม่ในที่เดิม ต้องรื้อบ้านเก่า และถมที่ทำเขื่อนกันน้ำเซาะตลิ่ง เมื่อตอนที่รื้อบ้าน เป็นอีกครั้งที่ได้ยินเรื่องผีบ้านผีเรือนของบ้านริมน้ำ
เรื่องมีอยู่ว่า คนรับเหมาตกลงรื้อบ้าน พาคนงานมาลงมือรื้อบ้านเก่าร้าง รื้อๆไป ก็พากันสะดุ้ง เพราะเห็นคนเดินเข้าเดินออกบ้านที่ไม่ใครอยู่ เข้าห้องนี้ ออกห้องโน้น เดินไปดูก็ไม่เห็นใคร  ที่เด็ดที่สุดคือ ยามโพล้เพล้ มีลุงออกมาชี้หน้าคนงาน พูดว่า มาทำอะไร บ้านนี้ เค้าอยู่กันมานานแล้ว อยู่ๆจะมารื้อบ้านกันได้ยังไง คนงานได้แต่ไหว้ บอกผมรับงานเขามาครับ เขาสั่งมารื้ิอ
 ผู้รับเหมาเลยแก้ปัญหา รีบยกทีมมารื้อให้จบแต่ตอนบ่ายแก่ๆ แล้วกลับ ไม่กี่วันก็จบ สร้างเขื่อนลง ถาม ว่าจะขนไม้ไปไว้ที่ไหนดี  เสียดายมาก เพราะมีแต่ไม้หน้าสามทั้งนั้น[2]  พอดี คุณแม่เลยส่งไปไว้ที่ไร่แถวราชบุรี เป็นอันจบตำนานบ้านไม้ริมน้ำ ปัจจุบัน บ้านใหม่ เป็นตัวบ้านไม้กึ่งตึก ยังไม่มีปรากฏการณ์อะไรมาเล่าสู่ค่ะ

 


[1] สมัยก่อน คนเรือ คือคนที่ใช้เรือเอี้ยมจุ้นเป็นบ้าน จอดริมแถวท่าเรือวัดราชา ที่เคยเป็นที่ขนทรายคึกคักอยู่  เรือนี้จะผูกโยงไว้กับไม้ที่ปักลงดินที่พื้นน้ำ
[2] ไม้หน้าสาม คือไม้ขนาดพอเหมาะกับการใช้ในการก่อสร้าง คือ หน้าตัด 1.5”x 3” ที่ฝรั่งเรียกว่า two by four นิยมใช้เพราะไม้อเนกประสงค์ ใช้เป็น ไม้โครง รัดแบบ ค้ำยันฯลฯ ได้
1