ณัฐจรีย์ จุติกุล 2016
ถ้าจะถามว่าความภูมิใจในชีวิตนี้คืออะไร คำตอบคือความเป็น “เด็กอักษรฯ”
ทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้มีคุณสมบัติที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเด็กอักษรฯ พึงมี คือ สวย รวย ฉลาด หวาน สง่า สูงศักดิ์ น่ารักอีกต่างหาก นั่นสิ…แล้วทำไมถึงเสี่ยงมาปะทะกับความงามอันพิไลพิลาสของเพื่อนอีกสองร้อยกว่าคนในสถานที่อันวิจิตรแห่งนี้
ตอนเกิดแม่เอาดวงไปผูก หมอดูอะไรไม่รู้แม่นชะมัดเขียนไว้ชัดๆ เลยว่าเจ้าของชะตาดวงนี้จะได้เรียนอักษรศาสตร์ (ไม่ยักบอกวิชาเอก) จะเป็นเพราะดวงชะตาพาไปจริงๆ หรือเชื่อหมอดูหัวปักจนมุ่งปั้นคำทำนายให้กลายเป็นจริง ในที่สุดฉันก็เป็นหนึ่งในนิสิตอักษรรุ่น 50 จนได้
กรรมการรุ่นมอบหมายให้ฉันเขียนถึงคณะฯ ฝากฝังให้เขียนเรื่องหมา ฉันเห็นว่าเป็นความคิดที่เข้าท่า เพราะนอกจากฉันอาจไม่มีใครเก็บหมาอักษรไว้ในหนังสือร้อยปีนี้แน่
คณะอักษรฯ ก็เหมือนกับที่สาธารณะทั่วๆ ไปในประเทศไทยที่มักมีหมามาปะปนอยู่กับคน คนก็จะแบ่งข้าวน้ำให้กินด้วยความสงสารจนเป็นมิตรกันไปทั้งสองฝ่าย เดินผ่านกันก็พยักหน้าให้กัน ถ้าใครไม่เคยพยักหน้าให้หมาก็ขอให้ลอง หรือถ้าหมาไม่เคยพยักหน้าให้ก็ขอให้พิจารณาตัวเอง
โต๊ะที่ฉันนั่งในศาลารวมใจมีกันทั้งหมดหกคน สี่คนรักหมา หนึ่งคนเฉยๆ หนึ่งคนรำคาญแต่ไม่คัดค้าน ถ้ามีทรัพย์เราจะช่วยกันเลี้ยงข้าวหมาตามโอกาสอันควร
ในจำนวนหมามากมายที่ผ่านมารับข้าวขาหมูบ้าง ข้าวไข่เจียวบ้าง มีหมาสองตัวที่ฉันผูกพันรักใคร่เป็นพิเศษ คือจุดจุด กับ สีชมพู
จุดจุดดูคล้ายหมาพันธุ์ดัลเมเชี่ยน ติดที่ขาสั้นร่างเล็กกว่า เป็นหมาอารมณ์ดี เดินยิ้มให้นิสิตทั้งวัน จุดจุดมักได้รับเชิญไปถ่ายรูปหมู่กับพวกเราบ่อยๆ
วันหนึ่งอาจารย์จิตโสมนัสซึ่งเป็นอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตเห็นฉันแถวตึกสาม ท่านเดินตรงมาหา แล้ววานพาจุดจุดไปหาหมอเป็นเพื่อนอาจารย์ ฉันมักว่างตลอดเพราะไม่ค่อยเข้าห้องเรียน น่าสังเกตว่าอาจารย์จะไม่เรียกใช้ฉันไปในทางวิชาการหรือสาระอื่นใดนอกจากเรื่องหมา ใครคิดว่าอักษรฯ มีแต่เด็กเรียน ขอให้นับฉันเป็นข้อยกเว้น
อีกตัวคือสีชมพู หมาขนอ่อนนุ่มสีขาว ขอบตาดำมีแต้มสีชมพูรับกับสีที่ปลายจมูก ฉันก็ทึกทักนึกรักเป็นหมาของตัวเอง ตั้งชื่อให้เสร็จสรรพ แปลกใจว่าคนจุฬาในพื้นที่วิศวะ-อักษรก็พากันเรียกเธอด้วยชื่อเดียวกัน สีชมพูเป็นหมามีสัมมาคาราวะ มารยาทงาม ครั้งหนึ่งฉันไม่เห็นสีชมพูเป็นเวลาเกือบอาทิตย์ ไม่รู้จะตามหาที่ไหน ก่อนกลับบ้านบ่ายวันหนึ่ง ฉันให้รู้สึกเหมือนปลาต้องมนต์พระสังข์ เดินขึ้นไปร้านตงเอียงบนตึกถาปัดทั้งที่ไม่ได้มีกิจธุระอะไรที่ร้านนี้เลย แล้วฉันก็เห็นสีชมพูถูกผูกอยู่ในร้าน ก็หมามันน่ารัก ใครๆ ก็อยากได้ สีชมพูกระดิกหางรับฉัน ดีใจราวพบญาติ ฉันขอตงเอียงให้ปล่อยสีชมพูเถิด เมื่อตีบทแตกด้วยกันทั้งหมาทั้งคน สีชมพูก็ได้กลับมาเป็นหมาอักษรฯ อีกครั้ง (น่าเห็นใจตงเอียงอยู่หรอก หมาถาปัดไม่น่ารักเท่าหมาอักษรฯ นี่นา)
เมื่อฉันเรียนจบอาจารย์นโรตม์ ปาละกวงศ์ ณ อยุธยา เมตตาเอาสีชมพูไปชุบเลี้ยงที่บ้าน วันหนึ่งระหว่างอาจารย์นั่งดูทีวี ดร. สายสุรี จุติกุลออกรายการโทรทัศน์พอดี อาจารย์หันไปบอกคุณพ่อซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันว่า “พ่อครับ สีชมพูเป็นดองกับอาจารย์สายสุรีนะครับ” แม้หลายปีผ่านไป อาจารย์ก็ไม่ลืมฉัน และมิตรภาพของฉันกับสีชมพู เมื่อฉันแต่งงานมาเป็นลูกสะใภ้ของดร. สายสุรี อาจารย์ยังโยงใยความผูกพันนั้นให้สืบเนื่องต่อไป
เมื่อตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ฉันไปขอให้อาจารย์นโรตม์เขียนจดหมายแนะนำให้ อาจารย์กลับไปคิดสามวันแล้วเรียกฉันไปบอกเรียบๆ ว่า “ผมไม่รู้จะเขียนอะไรให้คุณ เพราะคุณไม่มี academic achievement เลย แต่ผมจะเขียนให้นะ ว่าคุณรักหมา” ใครจะเชื่อว่าจดหมายแนะนำพิลึกพิลั่นของอาจารย์จะนำฉันไปเรียนต่อได้จริงๆ
เหมือนว่าเรื่องนี้จะหาสาระอะไรไม่ได้ แต่ฉันอยากถ่ายทอดความผูกพันและมิตรภาพใต้ร่มเทวาลัยอีกแง่มุมหนึ่งให้เห็น มีทั้งความรักและเมตตาของอาจารย์และคนในคณะที่เผื่อแผ่ยังสัตว์ร่วมโลก และความรักและเมตตาของอาจารย์ต่อศิษย์นอกเหนือจากการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ท่านรู้จักตัวตนของเรา ใส่ใจเราที่เป็นตัวเรา แม้จะเป็นเราที่บกพร่อง
ความภูมิใจที่มากกว่าการเป็น “เด็กอักษรฯ” คือได้เป็นเด็กอักษรฯ รุ่น 50 รุ่นที่ไม่มีการแข่งดีแข่งเด่น ไม่หวงเลคเชอร์ รุ่นที่บัณฑิตหน้าใสสองคนถ้อยทีถ้อยอาศัยนั่งตุ๊กตุ๊กมาฟังผลรับเหรียญทองด้วยกัน แช่มชื่นรับกันไปคนละเหรียญ ภายหลังยังจูงมือกันกลับมาสืบทอดสอนที่คณะ รุ่นนี้ถูกค่อนว่าเป็นยุคมืดจากคนภายนอก แต่สุกสว่างภายในด้วยความรักเอื้ออาทรของเพื่อนร่วมรุ่น เป็นรุ่นที่มีกองทุนรักเพื่อนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนยามยาก เป็นรุ่นที่หัวหน้าชั้นปีและกรรมการเสียสละ ทุ่มเท สานสายใยของความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยาวนานมาจนทุกวันนี้
เป็นรุ่นที่พิสูจน์ว่าความรักและมิตรภาพระหว่างเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 4 ปีในรั้วจามจุรี หากชงโคจะแตกแขนงรอดรั้วออกมางอกเงยงดงามตามกาลเวลาที่ผ่านไป
ณัฐจรีย์ จุติกุล
อบ. 50
ความคิดเห็นล่าสุด