ความสุขของผม

นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ 2016


ตอนเรียน ม.ศ.5 ใกล้จะจบ อาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงคณะอักษรศาสตร์ มีใจความสำคัญประมาณว่า “คณะนี้เรียนเพื่อความสุข ไม่ได้เน้นเพื่อทำมาหากิน”
       แต่ในเมื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะที่มีคะแนนสูงสุดของสายศิลป์-ภาษาในยุคนั้น พวกเราส่วนใหญ่จึงเลือกคณะนี้เป็นอันดับหนึ่งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย
       แล้วก็โชคดี…สอบติดคณะนี้กันแทบจะยกห้อง
       พอเข้ามาแล้ว ได้อ่านหนังสือหลักสูตรของคณะ จึงพบว่ามีวิชาน่าเรียนเกินกว่าจำนวนหน่วยกิตที่หลักสูตรกำหนดไว้มากมายนัก สำหรับผม วิชาที่เห็นว่าน่าเรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาที่เรียนเพื่อความสุข ตรงตามที่อาจารย์ท่านนั้นกล่าวไว้จริงๆ แต่ก็มีหลายวิชาที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีประโยชน์ต่อการทำงานเมื่อเรียนจบแล้วแน่ๆ
       ต่อไปขอกล่าวถึงบางวิชาที่ชอบมากและประทับใจมาจนทุกวันนี้
       วิชาแรกเป็นวิชาที่พอเห็นชื่อและรายละเอียดในหลักสูตร ก็ตัดสินใจได้เลยว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็จะต้องเรียนให้ได้ คือ Mythological Background to English Literature รหัสของวิชานี้บอกว่าเป็นวิชาสำหรับนิสิตปี 2 พอขึ้นปี 2 ผมก็ลงเรียนทันที ปรากฏว่าคนที่ลงเรียนส่วนใหญ่เป็นพี่ๆ ปี 3 ปี 4 เพื่อนปี 2 ด้วยกันไม่ค่อยมี แต่ในเมื่ออยากเรียน ก็ต้องลองดู และได้พบว่าวิชานี้ไม่ยากอย่างที่กลัวตอนแรก แต่กลับสนุกมาก ให้ความรู้เกี่ยวกับเทวตำนานกรีก-โรมัน รวมถึงคัมภีร์ไบเบิล ที่ไม่เคยรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน
       หลังจากเรียนจบมาแล้วหลายปี ได้มีโอกาสเป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง Mythology ของ Edith Hamilton ที่ใช้เรียนในวิชานี้ ฉบับแปลภาษาไทยโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์ จึงทำงานอย่างมีความสุข ได้ทบทวนความหลังครั้งเป็นนิสิตอีกครั้ง
       อีกวิชาของภาคภาษาอังกฤษที่พอได้เรียนแล้วปลื้มมากอย่างไม่คาดคิดมาก่อน คือ Grammatical Structure of the English Language เป็นวิชาที่มีประโยชน์สุดพรรณนา ทำให้อ่านภาษาอังกฤษได้ ‘แตก’ พอจะบอกใครๆ ได้อย่างไม่อายว่าจบอักษรศาสตร์มา นิสิตคณะเราควรได้เรียนวิชานี้ทุกคน ไม่เฉพาะแต่คนที่เรียนเอกภาษาอังกฤษเท่านั้น ตอนจบออกมาทำงานแล้ว งานที่ทำต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ก็ได้วิชานี้ช่วยชีวิตไว้ทุกครั้งเวลาเจอปัญหา
       เนื่องจากเป็นคนที่ชอบศตวรรษที่ 19 มาก พอเห็นว่าในหลักสูตรมีวิชา นวนิยายอังกฤษในศตวรรษที่ 19 จึงตั้งใจว่าจะต้องเรียนให้ได้ และได้เรียนตอนอยู่ปี 4 แม้จะต้องอ่านหนังสือยุคนั้นตามที่อาจารย์กำหนดถึงสี่เรื่อง แต่บางเรื่องอย่าง Pride and Prejudice ก็สนุกสนานอ่านเพลินจนไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้อ่าน และกลายเป็นหนึ่งในนวนิยายเรื่องโปรด
       นอกจากนี้ยังมีวิชาอื่นๆ ที่ชอบและเรียนด้วยความสนุกอีกหลายวิชา ทั้งพอจบมายังใช้ประโยชน์ในการทำงานได้อย่างมาก เช่น วิชากลุ่มแปลทั้งหลาย
       สี่ปีในคณะอักษรศาสตร์จึงเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข ตามที่อาจารย์ท่านนั้นได้กล่าวไว้ แต่ขณะเดียวกันวิชาที่เรียนก็นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ใช้ทำมาหากินได้…จนถึงทุกวันนี้
                                                                                                    
  นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ   อบ. 50

1