marisachim@hotmail.com

episode 3ตอนสุดท้ายของซีรี่ยส์ขนหัวลุก (ที่ไม่มีชื่อเรื่อง)

ความเดิมจากตอนที่แล้วที่เรา (คิดว่า) เห็นสาวน้อย คอกระเช้า ผมหน้าม้าเต่อ ใส่ผ้าถุงลายหม่นๆ นั่งเป็นเพื่อนพี่บุญรัตน์พิมพ์งานระหว่างไปทำข่าวในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ดินแดนแห่งทุ่งสังหาร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรากับพี่บุญรัตน์ก็ได้แต่หัวเราะกัน เราก็ไม่รู้ทำไมไม่ได้นึกกลัวเลย (ถ้าเป็นตอนนี้อาจสติแตกไปแล้วก็ได้)

แต่เรื่องขนหัวลุกในดินแดนทุ่งสังหารยังไม่จบ …….

วันรุ่งขึ้น พวกเราก็ออกไปทำข่าวกันเหมือนเดิม พอพูดเรื่องนี้ทีไรก็หัวเราะกัน พี่บุญรัตน์ว่า “เปียอาจคิดไปเองหรือเปล่า” เราก็ได้แต่ว่า “งั้นมั้ง”

ตอนที่แล้ว ยังไม่ได้เล่าว่า พี่บุญรัตน์เป็นคนง่ายๆ ทำงานด้วยได้อย่างสบายใจ ไปไหนไปกัน นั่งมอเตอร์ไซค์ไปทำข่าวในพนมเปญได้อย่างสบายๆ ถึงแม้จะกลัวๆ กับการจราจรในพนมเปญกับฝีมือการขับฉวัดเฉวียนของพวกไรเดอร์อยู่บ้าง

คำที่เราจำได้แม่นเวลานั่งมอไซค์คือ “ยืด ยืด” (ซึ่งเป็นภาษาเขมรและเดาได้ไม่ยากว่าแปลว่า “ช้า ช้า” นั่นเอง) อีกอย่าง วันไหนโชคร้าย ก็จะได้ไรเดอร์ตัวเหม็น เรานั่งซ้อนอยู่ใต้ลม เกือบเป็นลมก็หลายที

Photo: mad monkey hostel

แต่อย่างไรก็ตาม มีความเคยชินอย่างหนึ่งที่เรากับพี่บุญรัตน์มีไม่เหมือนกัน คือ เวลาอยู่ในห้องพัก เราจะชอบเปิดทีวีทิ้งไว้ให้มีเสียงเป็นเพื่อน ถึงแม้จะไม่ได้ดูก็ตาม
แต่พี่เขาบอกว่า ถ้าไม่ดูก็อย่าเปิดเลย ซึ่งเรื่องนี้เราก็ไม่มีปัญหาเพราะก็ไม่ได้จะดูอะไรมากมาย (โทรทัศน์อยู่ปลายเตียง)

TV show in Cambodia/Photo : Khmer Times

คราวนี้ กลับมาจากทำข่าวในวันรุ่งขึ้นหลังจากคืนนั้น พวกเราก็กลับมาที่ห้องพักในตอนเย็น พอเปิดประตูเข้าห้องมา เราก็เดินมาวางกระเป๋าเป้ไว้บนเตียงแล้วก็เดินเข้าห้องน้ำ

เราก็ได้ยินเสียงโทรทัศน์เปิด เราคิดในใจว่า “เออ แปลก วันนี้พี่บุญรัตน์เปิดโทรทัศน์เองวุ้ย”  หลังจากนั้น เราก็ทำโน่นทำนี่ คุยโน่นคุยนี่กัน โดยเราก็ไม่ได้สนใจรายการในโทรทัศน์หรือคิดจะแซวพี่เขาเรื่องเปิดโทรทัศน์

และแล้ว ในห้องก็เกิดสภาวะ dead air เมื่อพี่บุญรัตน์ถามว่า “เปีย เปิดโทรทัศน์ไว้ทำไมแล้วไม่ดู” ……

เราหันไปมองหน้าพี่เขาและหันไปดูโทรทัศน์ เราบอกว่า “เราไม่ได้เปิด พี่บุญรัตน์เปิดไม่ใช่เหรอ” พี่เขาก็ว่า “พี่ไม่ได้เปิด ก็เปียเปิดตอนเดินเข้ามาไม่ใช่เหรอ”

เราจำได้ว่า เราพูดเสียงดังเพราะตกใจว่า “เปล่า เราไม่ได้เปิด” ต่างคนต่างบอกว่า ไม่ได้เปิด

หลังจากปฏิเสธกันไปมา ตอนนั้น เราจำไม่ได้ว่า สีหน้าพี่บุญรัตน์เป็นอย่างไร แต่เราจำได้ว่า เรานึกแต่ว่า “เฮ้ย เอาแล้ว สาวน้อยคนนั้นคงอยากดูโทรทัศน์มั้ง เฮ้ย ดุจัง …..”

ตอนนั้น ยอมรับว่า กลัวเพราะไม่เคยเจออะไรอย่างนี้ ….ใจก็คิดยาวไปว่า ต้องขอย้ายห้องไหมเนี่ย หรือย้ายโรงแรมไปเลย (เราเป็นคนมองการณ์ไกล)

แต่แล้วก็ยังไงไม่รู้ เราก็มองหารีโมททีวีเพื่อจะเอามาปิดทีวี (เหมือนว่า เพื่อปิดเสียงและลดบรรยากาศตึงเครียด) แต่ก็หาไม่เจอ หาบนโต๊ะที่อยู่ข้างเตียงที่เป็นที่วางประจำก็ไม่มี เราก็หาจนทั่ว ยกโน่นยกนี่………

จนกระทั่ง เมื่อยกกระเป๋าเป้ของเราที่วางอยู่ปลายเตียงขึ้น และแล้วเราก็เจอรีโมททีวีวางอยู่อย่างเรียบร้อยใต้เป้นั่นเอง ………
คงไม่ต้องบอกแล้วนะว่า ใครเปิดทีวี

The End

1

#บ้านพี่อยู่คลองสามวาตะวันออก

เพื่อนอยู่หมู่บ้านนี้มามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่ถนนหนทางยังเป็นลูกรังขรุขระจนเดี๋ยวนี้เป็นถนน 6 เลนแล้วและเชื่อมต่อกับที่อื่นๆ มากมายทำให้ไปไหนมาไหนสะดวก อีก 2 ปี ก็จะรถไฟฟ้า (สายสีชมพู) มาหาแถวนี้ด้วย

บ้านเพื่อนอยู่ห่างจากปากทางเข้าหมู่บ้านเกือบ 4 กิโลเมตร ตอนมาอยู่ใหม่ๆ คนยังไม่เยอะมาก กว่าจะถึงบ้านก็ต้องผ่านท้องนาเป็นระยะและไฟถนนก็ยังมีไม่มาก
เมื่อต้องนั่งแท็กซี่เข้าในหมู่บ้านตอนค่ำๆ  ทั้งเพื่อนทั้งโชเฟอร์ก็มักมองกันอย่างหวาดๆ เมื่อเพื่อนชวนคุยทำนองว่า “ทางเข้าไกลและมืดเนอะ กลัวแท็กซี่เหมือนกัน เจอดีก็ดีไป” โชเฟอร์คนหนึ่งพูดว่า “ผมก็กลัวพี่” 555 (เพือนมักทิปให้เขาเพราะต้องตีรถเปล่าออกไปอีกหลายกิโล)

เพื่อนรู้จักหมู่บ้านที่อยู่น้อยมากเพราะไม่ค่อยได้ออกนอกเส้นทาง สายๆ ก็ขับรถออกจากบ้านไปทำงาน ค่ำๆ ก็ขับรถตรงแน่วกลับบ้าน เพื่อนบ้านก็พอรู้จักแต่เป็นบ้านใกล้ๆ กัน ชื่อซอยในหมู่บ้านก็ไม่เรียงกันอย่างที่อื่น เพราะเจ้าของที่ขายที่ให้บริษัททำหมู่บ้านไม่ได้เป็นผืนใหญ่ ขายเป็นผืนย่อยๆ ห่างกันบ้างใกล้กันบ้าง หมู่บ้านก็ตั้งชื่อซอย โฮมนั้นโฮมนี้ตามยถากรรม

อย่างซอยของเพื่อน (การ์เด้น 4) จะอยู่ระหว่างโฮม 10 กะโฮม 15  จนถึงตอนนี้ เจ้าของที่ (ที่มีอาชีพทำนา) ก็ยังมีที่ในหมู่บ้านที่ใช้ทำนา) ดังนั้น ในหมู่บ้านก็จะมีที่นาคั่นเป็นระยะๆ 

เกริ่นมาซะยาวหลายบรรทัด ครือกำลังจะเล่าว่า เพิ่งมีโอกาสรู้จักหมู่บ้านที่อยู่มานานมากขึ้นหลังจากกลับไปเดินออกกำลังกายตอนเย็น (ก่อนหน้านี้ หลังจากเนชั่นปิดก็เคยพยายามเดินตอนเย็นๆ แต่พอแม่เพื่อนทักว่า ไปทำอะไรมา ดำไป ก็เลยเลิก 555)

ที่ต้องออกกำลังกายบ้างเพราะคิดว่า ถ้าป่วยเป็นอะไรไปจะได้แข็งแรงสู้กับโรค ไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเพราะโรคสมัยนี้ ป้องกันยากโดยเฉพาะมะเร็งที่หลายคนเป็นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า แต่เป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับและอื่นๆ อีกมากมาย คุณนายแม่ของเพื่อนก็จากไปเพราะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งๆ ที่ในครอบครัวหรือบรรพบุรุษไม่เคยมีใครเป็นมะเร็ง

หลายคนอาจสงสัยว่า การไปเดินตอนเย็นทำให้รู้จักหมู่บ้านได้อย่างไร ยังมีตัวละครอีกตัวที่กำลังจะเล่าให้ฟัง ซึ่งคือ น้องโอ๋ (อายุ 38)เพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปจากบ้านเพื่อนไป 3-4 หลัง เแม่เขาซึ่งอายุมากกว่าเพื่อน 2 ปีสนิทกับคุณนายแม่ จะว่าไปแล้ว เพื่อนมีศักดิ์เป็นน้า แต่โอ๋เรียกเพื่อนว่า พี่ ซึ่งเพื่อนก็ไม่ทักท้วง 555

วันนึง เพื่อนรดน้ำต้นไม้อยู่ในบ้าน โอ๋ก็เดินผ่านหน้าบ้าน เขากำลังจะไปเดินออกกำลังกาย เขาก็ยกมือไหว้ทักทาย พอเพื่อนรู้ว่า เขากำลังจะออกไปเดินก็เลยขอตามไปด้วย นั่นเอง เพื่อนก็ได้เปิดโลกใหม่และรู้จักหมู่บ้านและคนในซอยมากขึ้น (เว่อร์ไหม 555)

โอ๋อยู่หมู่บ้านนี้มานาน (แต่น้อยกว่าเพื่อน) อยู่มาตั้งกะเด็ก ด้วยความเป็นเด็กช่างคุย ช่างทักทายและมีสัมมาคารวะ โอ๋รู้จักคนมาก เวลาเดินออกกำลังกายก็จะทักคนโน้นคนนี้ไปทั่ว โอ๋เองจะมีคนมาทักเป็นระยะๆ เพื่อนเลยได้พลอยรู้จักคนนั้นคนนี้ไปด้วยเช่น พี่น้อง เจ้าของร้านซุปเปอร์ในบ้าน คนนี้ขายบาร์บีคิวตรงตลาด คนนี้อยู่ในซอยเดียวกับเราไง (หลายคนรู้จักคุณนายแม่พราะแม่ก็ชอบเดินเล่นหน้าบ้านและซื้อของจากไลน์หมู่บ้าน)

การเดินยามเย็นทำให้เพื่อนรู้จักซอกซอยในหมู่บ้านมากขึ้น มีโอกาสได้เดินไปหลังหมู่บ้านโดยออกทางประตูที่กำแพงหลังหมู่บ้าน โอ๋พาเพื่อนเดินไปอีกหมู่บ้านนึงที่อยู่ใกล้ๆ กันที่เพื่อนไม่เคยคิดจะแวะไป เป็นต้น สองคนน้าหลานชอบ explore เส้นทางใหม่ๆ ถ้ามีซอยที่ไม่เคยรู้จักก็มักจะเดินเข้าไป ก็จะได้รู้จักเส้นทางใหม่ๆ เจอบ้าน เจอคนใหม่ๆ

ระหว่างทางโอ๋ก็มักเล่าโน่นเล่านี่ให้ฟัง เรื่องตัวเองบ้าง (เขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูก 2 คน คนเล็กเป็นเด็กพิเศษ) เรื่องในหมู่บ้านบ้าง แต่ที่สังเกตได้คือ เวลาเล่าเรื่องคนอื่นก็จะเล่าแต่เรื่องดีๆ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เม้าส์เพื่อนบ้าน แต่เป็นส่วนน้อย

ระหว่างเส้นทางที่เดินออกกำลังกาย เราก็มักเจอพืชผักต่างๆ ข้างทาง เช่น บวบ กระถิน มะรุม ผักบุ้งและอื่นๆ โอ๋ก็ชอบจะเก็บผักพวกนี้ บอกว่าจะเอาไปกินกะน้ำพริกหรือต้มจืด เพื่อนไม่สนใจเพราะไม่ทำกับข้าว

คราวนึง ไปเจอบวบอ่อนๆ ข้างทาง โอ๋ตื่นเต้นมากเพราะชอบกินบวบ แต่เพื่อนว่า จะกินได้ไหมนั่นเพราะถ้ากินอร่อย น่าจะมีคนเก็บไปหมดแล้ว ซักพักก็เจอชาวบ้านแถวนั้น เขาก็ว่า บวบนี้แข็งกินไม่อร่อย เขาเองยังไม่เก็บ โอ๋หันมาทำหน้าเศร้าและว่า พี่เปียสงสัยถูกต้อง

วันหน้าจะมาเล่าให้ฟังใหม่นะว่า เจออะไรระหว่างการเดินอีกบ้าง และช่วยให้กำลังใจเพื่อนให้น้ำหนักด้วยนะ 555

1

Episode 2 มาแล้ว เราอยู่เมืองไทยไม่เคยเจออะไรลี้ลับ น่าสะพรึงกลัว ไปกัมพูชาเลยเจอดีซะเลย

ภาพส่วนหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจากการทรมานและสังหารของเขมรแดง ใน Tuol Sleng Genocide Museum
Photo : the Guardian

Episode 2
สมัยนั้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อน การเดินทางไปพนมเปญ เมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเขมรเพิ่งเปิดประเทศ กฎระเบียบทุกอย่างก็ใหม่ เจ้าหน้าที่ก็ใหม่ ทุกอย่างลัดขั้นตอนด้วยยูเอส ดอลล่าร์สหรัฐ ประชาชนก็เพิ่งเดินทางกลับเข้าประเทศจากค่ายผู้อพยพ บ้านเรือนต่างก็ถูกทิ้งให้รกร้างและโดนทำลาย เพราะผู้คนหนีเขมรแดงที่เข้ายึดครองประเทศและเข่นฆ่าคนเขมรด้วยกันเอง บ้านสวยๆ หรูๆ หลายหลังถูกบุกรุกและเข้าไปอยู่โดยคนที่ไม่ใช่เจ้าของ

ตอนยุคเขมรแดง คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ มีความรู้ พูดได้หลายภาษา คนกลุ่ม LGBT และต่างชาติจะถูกทรมานและสังหาร (ถ้าเราอยู่ช่วงนั้นก็คงไม่รอดเพราะคนใส่แว่นแสดงถึงเป็นคนมีการศึกษาสูง)

เมื่อเขมรแดงบุกเข้าพนมเปญในปี 1975 ผู้คนต่างพากันดีใจและต้อนรับเขมรแดง โดยไม่รู้ว่า นั่นเป็นการเริ่มต้นการล้างเผ่าพันธุ์ (Photo: Roland Neveu)

สำหรับเดอะ เนชั่น เพื่อเป็นการประหยัดงบ เรามักจะไปทำข่าวที่เขมรคนเดียวเพราะถ้ามีช่างภาพไปด้วย นั่นแสดงว่า งบที่ใช้ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าสำหรับตั๋วเครื่องบิน ห้องพักและเบี้ยเลี้ยง สมัยนั้น สำนักข่าวของไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเน้นการออกไปทำข่าวต่างประเทศ จะใช้ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเท่านั้น
เราช่วยเนชั่นประหยัดค่าใช้จ่ายมาก โทรหาคุณนายแม่ก็ไม่บ่อย นานๆ ทีหรือบางทีก็ให้พี่ที่เนชั่นโทรแทนเพื่อแจ้งว่า สบายดี

เดอะเนชั่น อยากได้มุมมองข่าวใหม่ๆ (โดยใช้งบน้อยที่สุด :P) ข่าวที่ต้องการคือ ข่าวที่มีผลกระทบกับไทยในทุกด้านและที่ บอกอ ในสมัยนั้นซึ่งก็คือ คุณเทพชัย หย่อง อยากได้มากคือ ข่าวสีสันและที่เกี่ยวกับคน เด็ก ความเป็นอยู่ของประชาชน (Human interest)

เราสนุกสนานกับการทำข่าวมาก ได้คุยกับคนเขมร (ผ่านล่าม) คนเขมรแทบจะทุกคนชอบออกความคิดเห็นและคุยกับคนไทย หลายต่อหลายคนพูดภาษาไทยได้เพราะมาอยู่ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เขมรหลายปี และมักจะใจดีกับคนไทยเพราะสำหรับคนที่หนีตายจากประเทศของตัวเองและได้รับความช่วยเหลือจากไทย ก็ย่อมจะนึกถึงบุญคุณของประเทศไทย

เราไปทำข่าวคนเดียวก็ไม่ได้นึกกลัวอะไรๆ สิ่งแรกที่ทำเมื่อไปถึงพนมเปญคือ ติดต่อสถานทูตไทยเพื่อรายงานตัว ว่า หนูมาแล้วนะคะ พักที่โรงแรมนี้นั้น ด้วยความที่เป็นนักข่าวประจำกระทรวงต่างประเทศ ก็จะรู้จักทูตและข้าราชการสถานทูต ก็จะได้ข่าวและได้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัย (หลายครั้ง นักการทูตไทยก็แอบฝากคำถามให้เราไปถามฝ่ายเขมรด้วยเพราะเขาจะถามเองจะไม่เหมาะสม 555) อ้อ ได้กินข้าวฟรีก็บ่อย

เขมรเป็นดินแดนแห่งทุ่งสังหาร มีความโศกเศร้าและหดหู่ทุกที่ ถามไปเถอะ ทุกครอบครัวจะต้องมีญาติพี่น้องที่โดนเขมรแดงฆ่าหรือหายสาบสูญ ตามความเชื่อแล้ว ทุกๆ ที่เคยมีคนตายและมีวิญญาณวนเวียนอยู่ทั่วไป เราเชื่อว่า ที่เขมร ต้องมีวิญญาณที่ตายเพราะความทุกข์มากกว่าที่อื่นแน่ แต่ก็ไม่เคยนึกกลัว (ตอนนั้น กลัวคนมากกว่า 555) ก่อนนอนก็ไหว้พระ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง 

โรงแรมที่ไปพักเป็นประจำเป็นโรงแรมเล็กๆ ของคนเขมรอยู่แถววิมานเอกราช ไปพักบ่อยจนคุ้นเคยกับสต๊าฟที่นั่น ค่าห้องไม่แพง น่าจะประมาณ 800 บาทต่อคืน

วิมานเอกราช

ครั้งหนึ่ง สั่งอาหารจากครัว จะสั่งข้าวผัดไก่ แต่ไม่มีใครเข้าใจภาษาอังกฤษเลย (ถ้าไปกินข้างนอก จะใช้วิธีจิ้มรูปในเมนู) ก็เลยต้องทำท่าผัดข้าว ตานี้ จะสั่งว่าใส่ไก่ สั่งว่า ชิกเก้นก็ไม่เข้าใจ ท้ายที่สุด ต้องทำท่าไก่ตีปีกพั่บๆ 555 อีกวัน สั่งข้าวผัดหมู ก็ไม่ยากแล้ว ก็ทำปากหมู พอจะสั่งไข่ดาวก็โชคดีที่ในครัวเขามีไข่อยู่แล้ว ไม่งั้น ก็อาจต้องทำท่าตีปีกและออกไข่

อ่านมาถึงตอนนี้ เพื่อนๆ อาจเคืองเราอยู่ในใจว่า ไม่เข้าเรื่องที่โปรยไว้ซักที 555 ก็ได้ๆ เดี๋ยวจะเคืองกันไปมากกว่านี้

เราพักคนเดียวที่โรงแรมนี้ทุกครั้ง เราก็ไม่เคยเจออะไรน่ากลัวๆ ทั้งๆ ที่สต๊าฟโรงแรมยืนยันว่า ได้ยินเสียงนั่นเสียงนี่อยู่เป็นประจำ หรือมีคนกลับมาจากกินเหล้าตอนกลางคืน เห็นอะไรแว่บไปแว่บมา จนกระทั่ง ….

เมื่อ นสพ. กรุงเทพธุรกิจซึ่งอยู่ในเครือของเนชั่นส่งพี่นักข่าวมือดีให้เดินทางเข้ามาพร้อมกัน หลายคนน่าจะรู้จักพี่บุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ ซึ่งทำข่าวต่างประเทศมานาน แปลหนังสือดังๆ ก็หลายเล่ม เราก็ชอบที่ได้เพื่อนร่วมทริปเพราะจะได้เป็นเพื่อนกันและน่าจะได้มุมข่าวใหม่ๆ ข้อมูลและแหล่งข่าวใหม่ๆ

พี่บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

พี่บุญรัตน์กับเราก็พักกันที่โรงแรมเดิม ได้ห้องใหญ่ขึ้นเพราะพัก 2 คน มีเตียงเดี่ยว 2 เตียง พี่บุญรัตน์ก็มีอาวุธคู่กายคือ พิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว(ตอนนั้น โน้ตบุ้กยังไม่แพร่หลาย ของเราก็เป็นโน้ตบุ้กที่ตัวใหญ่และหนักอึ้ง โทรศัพท์ก็มีเครื่องเดียวที่ล็อบบี้ เวลาจะส่งข่าวก็ต้องมาต่อโน้ตบุ้กกับโทรศัพท์ เสียงหมุนโมเด็มดังทั่วล็อบบี้)

คืนแรกๆ ที่ไปพักก็เรียบร้อยดี เช้าก็ออกไปทำข่าวกัน เย็นก็กลับมาที่โรงแรก บางทีก็สั่งอาหารจากในครัวโรงแรม บางทีก็กินจากข้างนอก แต่ก็ไม่บ่อยเพราะกลัวท้องเสียและไปไหนมาไหนตอนกลางคืนก็ไม่สะดวกและไม่น่าจะปลอดภัย)

คืนนั้น พวกเราก็กลับมาที่ห้องพักเหมือนปกติ เรายังไม่ส่งข่าวเลยอาบน้ำก่อน แต่พี่บุญรัตน์นั่งทำงานต่อ พี่เขาเอาโต๊ะเล็กๆ มาวางระหว่างเตียงเรากับเตียงพี่เขา แล้วเอาพิมพ์ดีดมาวางและนั่งบนเตียงของเขาเพื่อพิมพ์งาน เราเลยว่า งั้นเรานอนก่อนนะ พี่บุญรัตน์ก็ว่า ตามสบายเพราะยังพิมพ์งานไม่เสร็จ เราก็เลยหลับไปก่อนโดยนอนตะแคงไปอีกด้าน ไม่ใช่ด้านที่พี่เขานั่งอยู่ 

เราตื่นขึ้นมาอีกทีกลางดึก ไม่รู้กี่โมงเหมือนกัน ไฟยังสว่างอยู่และได้ยินเสียงพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กเป็นระยะ ในใจตอนนั้น เราก็คิดว่า ดึกแล้ว พี่บุญรัตน์ยังทำงานอยู่เลย เราเลยพลิกตัวกลับมาเพื่อจะดูว่า พี่เขายังทำงานอยู่เหรอ ว่าจะทักว่า ดึกแล้ว พอพลิกตัวกลับมา ก็เห็นพี่เขานั่งพิมพ์ดีดที่เดิมโดยไม่เงยหน้า

แต่…..ที่เราเห็นนั่งข้างๆ พี่เขาคือ ผู้หญิงไว้ผมสั้นแค่คอ หน้าม้าเต่อๆ เธอใส่เสื้อคอกระเช้าสีขาวๆ นุ่งผ้าถุงสีหม่นๆ เธอนั่งห้อยเท้าและท้าวแขนทั้ง 2 ข้างพร้อมทั้งชะโงกหน้าไปดูที่พี่บุญรัตน์กำลังพิมพ์อย่างสนใจ เราเห็นภาพเธอชัดมากทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่แว่น (ใครจะใส่แว่นนอนกันบ้างล่ะ) 

ใครอ่านมาจนถึงตอนนี้คงคิดว่า เพื่อนคงลุกจากเตียงขึ้นมากรี๊ดลั่นโรงแรม 555 เปล่าจ้า เพื่อนพลิกตัวกลับไปพร้อมทั้งคิดว่า “ไม่เป็นไร ดีแล้วๆ พี่บุญรัตน์มีเพื่อนแล้ว” แล้วเพื่อนก็หลับไปจนเช้า 5555 (บอกแล้ว เราเป็นคนหลับง่าย)

เช้าวันรุ่งขึ้น เราเล่าให้พี่เขาฟังว่า เมื่อคืนเราเห็นอะไร พี่เขาฟังแล้วก็หัวเราะ เราก็หัวเราะ …. จบข่าว 555 โชคดีมากที่พี่เขาไม่กลัว ไม่งั้นคงได้ย้ายโรงแรมกันบ้างล่ะ 

End of Episode 2
——————————–

#เรื่องยังไม่จบนะ ยังมีเหตุการณ์น่าขนหัวลุกอีก รอ Episode 3 ด้วยเน้อ 

2

Episode 1 : เรื่องเล่าจากเขมร ดินแดนแห่งทุ่งสังหาร เจอมากับตัว อย่าอ่านตอนกลางคืน เตือนแล้วนะ    

เราเริ่มทำงานที่ นสพ เดอะเนชั่น ตั้งแต่ปี 1991 จากเด็กทุ่งบางเขน กระโปรงม่วงที่ไม่เคยไปไหนไกล สมัยประถม-มัธยม (สาธิตเกษตร) ก็เดินทางระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแม่ก็จับใส่รถไปส่งเช้า-เย็น ไม่เคยได้ออกนอกเส้นทาง พอมาเรียนที่อักษรฯ ก็เดินทาง (ส่วนใหญ่โดยรถไฟ) จากบ้านมาจุฬาฯ เท่านั้นเอง ตอนเรียนจุฬาฯ ก็ได้ไปอีสานเพราะทำงานค่าย สจม. แต่ก็ไปเป็นหมู่คณะ ไปสร้างโรงเรียน สร้างแท็งค์น้ำอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ

แต่พอมาอยู่ที่เนชั่น ทำให้มีโอกาสเดินทางไปทำข่าวทั้งในและต่างประเทศหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นการเปิดโลกให้เราอย่างมาก เมื่อแรกเข้า เริ่มงานด้วยเป็นรีไรท์เตอร์ พอตำแหน่งนักข่าวที่โต๊ะต่างประเทศว่าง เราก็เลยย้ายไป หนู (กุลชาดา ชัยพิพัฒน์) เพื่อนอักษรฯ ของพวกเราก็ทำอยู่ที่โต๊ะนี้ด้วย ซึ่งตอนหลังหนูก็ขึ้นเป็น บอกอ  

เมื่ออยู่โต๊ะนี้ ก็ถูกส่งไปประจำที่กระทรวงต่างประเทศซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วังสราญรมย์ แถวสนามหลวง (ตอนนี้ อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา) ด้วยความที่เป็นวังเก่า สถาปัตยกรรมสวยงามและเก่าแก่ทำให้มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับและเจ้านายสมัยก่อน มีข้าราชการที่อยู่เวรตอนกลางคืน เห็นนั่นเห็นนี่กันประจำ

แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าขานกันเท่านั้น เท่าที่จำได้ พวกนักข่าวเองก็ไม่มีใครเคยเจอด้วยตัวเอง (แต่ที่นี่เอง ที่เรารู้จักและเจอ “ผีขนุน” 555)

กระทรวงต่างประเทศ วังสราญรมย์ ปีไหนไม่รู้
(รูป : FB รักสยาม หนังสือเก่า รับซื้อขายหนังสือเก่า)

ในการเดินทางไปข่าวที่ต่างๆ เราก็ไม่เคยพานพบกับสิ่งเร้นลับต่างๆ (มีคนบอกว่า น่าจะเพราะจิตแข็ง แต่เราว่า น่าจะเพราะเราเป็นคนหลับง่าย หลับสนิทได้ในทุกที่ บรรดาผีๆ อาจมาสะกิดแล้วเราไม่รู้ตัวมั้ง) ในขณะที่นักข่าวสายการเมืองหลายคนที่ต้องเดินทางตามรัฐบาลไปจังหวัดต่างๆ จะมีรายชื่อโรงแรมต่างๆ ที่จะไม่พักเพราะมีคนเคยเจอผีมาแล้ว

เราได้รับมอบหมายให้ทำข่าวที่เกี่ยวกับกัมพูชาซึ่งเพิ่งลงนามเซ็นสัญญาสงบศึก (Paris Peace Agreement) การลงนามนำมาซึ่งการปิดค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทยและส่งผู้อพยพกลับประเทศ ตอนนั้น ค่ายใหญ่ที่สุดอยู่ที่อรัญประเทศ เราเลยต้องเดินทางไปมาและไปทำข่าวการปิดค่ายจนหมด สิ่งที่ได้ไปเห็นคือ คนเขมรที่หน้าตาเศร้าสร้อย พักอยู่ในบ้านหลังคามุงจาก ลูกเล็กเด็กแดงเล่นกันสนุกสนานตามประสา เนื้อตัวมอมแมม พ่อแม่ต้องมาเข้าแถวรับอาหารจากองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ

ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ทำไมผู้อพยพต้องย้ายที่พัก พวกเขาพากันเดินเป็นแถวๆ จูงลูกจูงหลานและหอบข้าวหอบของเท่าที่มี เราก็ได้แต่นึกถึงไทยว่า อย่าให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเลยเพราะศึกสงครามที่เกิดในเขมรไม่ใช่เพราะถูกรุกรานจากต่างประเทศ แต่เกิดจากคนในประเทศทะเลาะกันเองและแบ่งเป็นฝักฝ่าย (แต่ที่ลุกลามใหญ่โตก็เพราะมีต่างประเทศเข้าแทรกแซงและสนับสนุนฝ่ายต่างๆ)

พอประเทศเขมรกลับเข้าสู่สภาวะ (เกือบ) ปกติ ผู้คนกลับเข้าประเทศ จะมีการเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ก็ด้วยการจัดการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่โดยมีสหประชาชาติและกองกำลังต่างประเทศ เราก็ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปกรุงพนมเปญ เมืองหลวงเพื่อรายงานข่าวช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หลายต่อหลายครั้ง เข้าออก เข้าออก จนพาสปอร์ตพรุนไปด้วยวีซ่าเข้าเขมร ต่อหน้าก็แล้วก็มีแต่วีซ่าเขมร

และช่วงนั้นเองที่เราผู้ซึ่งแคล้วคลาดมานานต้องเจอดีกับสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ บรื๊อออออออ

To be continued : Episode 2

1