เพริศเพลิน

British Version of Trains, Planes and Automobiles

ใครเคยดูหนังเรื่องนี้แล้วบ้าง เรื่องราวไม่ได้จี๊ดจ๊าด แต่จําไม่ลืม
ชั้นวางแผนไปอังกฤษกับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภา แจ๊คพอตมากเจอชาวรถไฟอังกฤษ strike ทั่วประเทศ แถมเลือกวันเดินทางโดยรถไฟได้
เหมาะเจาะอย่างที่สุด
วันที่พี่ๆ เขา strike กันคือ 21,23,25 มิย
ตารางเดินทางของชั้นคือ
21 ออกจาก London ไป York
22 ออกจาก York ไป Edinburgh
24 ออกจาก Edinburgh กลับมา London
ดูจากวันที่แล้วน่าจะรอดทั้งวันที่ 22 และ 24 แต่การณ์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่วันที่ไม่ strike มันยังเสล่อมีแอบ cancel นะยะ
วันที่ 22 ชั้นไปถึงสถานีรถไฟยอร์คก่อนเวลาหนึ่งชั่วโมง เผื่อเหลือเผื่อขาด
ไปถึงก็ยืนงงหน้าบอร์ดบอกเวลากับเบอร์ชานชะลา
…ทําไมเบอร์รถเราไม่ปรากฎอยู่บนบอร์ด…
ทําไมคะ…
เจ้าหน้าที่บอก…อ้อ…ก็ยกเลิกอ่ะค่ะ ช่วยไปขบวน 12:30 ละกันนะคะ
ขณะนั้น 12:24แล้ว ก็โกยกันอ้าวพร้อมกระเป๋าเดินทาง
ขนาด travel light แล้ว ก็ยังต้องลาก เข็น ยก อยู่ดี
ขึ้นรถได้ก็ต้องเสี่ยงดวงหาที่นั่งกันเอาเอง ตั๋วมี seat ที่จองไว้ล่วงหน้าสามเดือนหามีความหมายใดใดไม่ ในสถานการณ์คับขันก็เจอทั้งคนหยาบคายและใจดี
พอถึง Edinburgh ก็พุ่งไปที่ห้องขายตั๋ว ขอ confirm ว่าเที่ยวที่จะไปลอนดอนไม่ cancel นะ คุณลุงขายตั๋วยืนยันมั่นใจ นี่ไง…ขบวนของยูพร้อมชี้จอคอมพิวเตอร์ให้ดูภาพประกอบว่าขบวนเราไปลอนดอนแน่ๆ
อุ้ย…ดีใจ
ตัดภาพวื้ดดดดไปสองวัน
คืนก่อนกลับลอนดอนนอนดูข่าวเล่นๆ เห็นข่าวรถบรรทุกพลิกควํ่าไถตัวจากถนนตกทับรางรถไฟ เอ๊ะ…ยังไง จะเกี่ยวกับเราไหมเนี่ย
จากประสบการณ์(เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว)
เคยเจอนํ้าท่วมนาริตะทางขาด ชาวญี่ปุ่นตั้งสะพานให้รถข้ามได้ภายในหกชั่วโมง เราไปเดินชอปปิ้งยังไม่เสร็จ สะพานเสร็จแล้วค่ะ
หรือที่สวิตเซอร์แลนด์ ทางไป Zermatt เจอนํ้าท่วมทางขาดอีก คุณพี่ชาวสวิสเอาแพยางแบบหนาสูบลมกางแล้ววางเหล็กทับให้รถวิ่ง
ต่อไปเหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น
นี่แค่รถบรรทุกคันเดียว รางรถไฟรางเดียว มันจะเท่าไหร่ก้านนนนน
ชิลๆ เนอะ

เช้าวันที่ 24 ชั้นก็รีบไปสถานีก่อนเวลาหนึ่งชั่วโมง เผื่อเหลือเผื่อขาดอีก
แต่ทําม้ายยยย มันต้องต้องขาดไม่มีเหลือเลยสักครั้ง รถไฟขบวนเราถูก cancelled อีกจริงๆ เพราะรางสายเหนือเจ๊งโบ๊งไปแล้ว
ด้วยเหตุน้องรถบรรทุกที่กลิ้งทับรางรถไฟนั่นแหละ
จนท สั่งการรวบผู้โดยฯ ขบวนสายเหนือไปผนวกกับรถไฟสายตะวันตก.
หรือจากสาย Lumo และ Lner ไปขึ้น Avanti (เหล่านี้คือชื่อบริษัทรถไฟที่วิ่งตามเส้นทางต่างๆ)
โปรดนึกภาพผู้โดยฯ ที่ไปรถขบวนเรา (11:50) บวกกับผู้โดยฯ ขบวน 11:19 บวกกับผู้โดยฯ ตัวจริงขบวนที่ไปได้(11:32) รวมเป็นจํานวน
ผู้โดยฯ สามขบวนในรถขบวนเดียว
สภาพเลยตราตรึงแบบนี้

นึกถึงตอนปี 4 กลับจากเชียงใหม่กับเพือนๆ นั่งรถไฟชั้น 3 แม้เป็นเก้าอี้ไม้ ก็ยังมี seat ให้แสดงความเป็นเจ้าของ
นี่จ่ายตั๋วราคาเต็มก็ยังนั่งพื้น และคาดว่าต้องนั่งไปจนถึงลอนดอน
โปรดดูสภาพ
เป็นปสกที่หาซื้อไม่ได้จัดให้ exclusively โดย Royal British Railways เท่านั้นค่ะ
เอาล่ะ…ในความโชคร้ายก็มีความโชคดี ชั้นได้นั่งในรถเสบียง มาดว่าเหตุการณ์เพลี้ยงพลํ้าเลวร้ายไป
กว่านี้การันตีว่าเรามีของกินแน่นอน
อนิจจา…เมื่อมี pros ก็ย่อมมี cons ที่ไหนมีขุมทรัพย์ย่อมมีคนมาตะกุยคุ้ยเขี่ย
เริ่มจากมีคนมาหาซื้ออาหาร แล้วโวยวายว่าทําไมไม่ขาย
โอ้ววว…พี่คะ พี่ไม่เห็นเลยเหรอคะว่ามีคนนั่งอัดอยู่ในตู้เสบียงกี่ชีวิต ที่จะยืนยังไม่มี จะให้ขายอะไรยังไงคะ เอาอะไรคิดคะเนี่ย
ต่อด้วย มีคนมาโวยวายขอนํ้าขอเบียร์นางโวยจนท ยกนํ้าออกมาหนึ่งลัง 48 ขวด วางไว้บนเคาน์เตอร์เหนือหัวชั้น ก็ต้องลุ้นกันล่ะว่าจะ
แจกหมดก่อนหรือจะตกใส่หัวชั้นก่อน
รถไฟก็เคลื่อนตัวไปตามรางเรื่อยๆ ถ้าไม่เมื่อยยืนเก้ๆ กังๆ ก้มตัวให้หัวพอดีหน้าต่าง ก็จะมีทิวทัศน์ชนบทอังกฤษอันงามสงบให้เห็นพอเพลินๆ

จาก travel time 4ชั่วโมงครึ่ง เริ่มยืด เพราะมีคนดันไปดึง alarm ที่สถานีรถไฟระหว่างทาง จนทก็ต้องเช็คกันว่ามีเหตุอาเพศจริงหรือเล่น
ก็สรุปว่าเล่น
นาทีนั้น เป็นอันว่าถึงลอนดอนช้าไปอีกชม เป็น 16:30
เมื่อเรานึกว่าความซวยมักมาเป็นแพคสาม อันนี้เริ่มไม่ใช่แระ
ขณะที่รถไฟแล่นอยู่กลางป่า ก็พลันจอด…
ทําไมล่ะคะ…
รถไปไม่ได้ ประตูชํารุด ต้องหาเหตุก่อน ถ้าประตูปิดไม่ได้ รถก็วิ่งไม่ได้
ด้วยความเร็วรถประมาณ 200 ไมล์ต่อชั่วโมง คงไม่มีใครกล้าเสีายงถูกเหวี่ยงลงจากรถเนอะ
เจ้าหน้าที่ก็เอาอกเอาใจผู้โดยฯ ด้วยการประกาศให้ข่าวเป็นระยะๆ พอไม่ให้เหงา ว่าบัดนี้ตรวจด้วยระบบกลางไม่ได้ บานปลายเป็นต้อง
เดินตรวจประตูทีละบานๆ นึกภาพตามนะ ว่ารถไฟขบวนยาวๆ มันมีกี่ประตู และจะใช้เวลาเท่าไหร่
สักพัก เขาเริ่มตัดไฟในรถไฟ เพื่อให้เหมาะกับบรรยากาศจอดอยู่กลางป่ า
ไม่นานเท่าไร จนทเสียงหล่อคนเดิมประกาศอีก กําลังใจเริ่มมา
ซ่อมประตูเสร็จแล้วคร้าบ…เย้…
คนประกาศดันต่อด้วย…
However…
ไอ้คํานี้ มันไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าไรเนอะ
เมื่อเราคิดว่า it can’t be worse ก็ worse ทันทีจนทที่ชั้นว่าเสียงไม่หล่ออีกต่อไปแล้วประกาศว่า รถไฟเสีย ต้องเปลี่ยนขบวนที่สถานีหน้า
ขอเชิญท่านผู้โดยฯ ลากกระเป๋าไปขึ้นรถที่ชานชะลาเบอร์ 5 โดยพร้อมเพรียงกัน
ห๊า…เอางั้น
ชานชะลาเบอร์ 5 ย่อมหมายความว่า ต้องมีการขึ้นบันใดและลงบันใดอีกอย่างละรอบ
โขยกเขยกพะรุงพะรังกันจนถึงรถขบวนใหม่ คนอื่นเลี้ยวซ้าย คณะเราเลี้ยวขวา ตามป้าย first class ที่ติดข้างโบกี้ ดูทรงแล้วไม่น่าต้อง
แย่งที่นั่งที่ยืนกับคนอื่นสักเท่าไร เพราะไม่ค่อยมีคนเดินมาทางนี้
เอาล่ะ…ดวงการเดินทางของคณะเราเริ่มดีขึ้น บัดนี้เราได้ upgrade มานั่ง (หน้าห้องนํ้า) first class ถึงขั้นมี cabin ส่วนตัว เคบินที่ว่าคือ
exit ตรงทางขึ้นลง
ยืนคุยกันไป ดูวิวกันไป จากเมือง Crewe จนถึง London ประมาณ 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้นห้องนํ้าที่เรายืนเป็นยามอยู่ก็เริ่มชํารุด กดนํ้าไม่ลง

จะมีอะไรต่อไปอีกไหมเนี่ย…
เอาล่ะ…ถึงลอนดอนแล้ว คิวขึ้นแท็กซี่ยาวเหยียด
เอาอี้ก…คนขับแท็กซี่ที่ลอนดอนนี่ถือเป็นเอกเรื่องถนนหนทาง เพราะต้องผ่านการสอบที่มหาหินมหาโหดกว่าจะได้ใบขับขี่แท็กซี่มาครอบครอง ทุกคนจะรู้จักทุกซอกทุกมุมในลอนดอนอย่างกับหลังมือตัวเอง
ว่าแล้ว พี่คนขับของเราเกิดเลี้ยวผิด วนไปวนมาอยู่อีก นางเลี้ยวมั่ว มั่วเสร็จหันมาถามเสียงใสน่ารัก…กระเป๋ายูหนักไหม ลงเดินได้ปะ น่ะ
…โรงแรมยูอยู่นั่นไง…ชี้ชวนน่ารักนะยะ
ชั้นก็สวนกลับทันที บ้า it’s heavy…that’s why I take taxi จงไปส่งชั้นให้ถึงหน้าโรงแรมบัดเดี๋ยวนี้
แล้วนางก็ชาร์จเงินเพิ่มตามระยะทางที่นางวนเพิ่มไป
วันนี้วันดี…ยังความบันเทิงมาให้ทุกรูปแบบ
รถไฟแล้ว แท็กซี่แล้ว ต่อด้วยโรงแรมค่ะ
พนักงานเช็คอินก็นะ…อิฉันอัพเกรดให้นะคะ แต่นางไม่ดูตาม้าตาเรือเล้ยย…ส่งเข้าห้องที่ยังไม่ทําความสะอาด หรือทําแล้วแต่ไม่เสร็จก็ไม่รู้
ชั้นเริ่มขําไม่ออก อยากจะเหวี่ยงนางไปดาวพระศุกร์แต่นางสวยไม่พอเลยไม่ qualified เลยจบความคิดที่ตรงนั้น
นางก็ส่งไปอีกห้อง ซึ่งรับไม่ได้มาก ห้องเล็กกว่าห้องนํ้าที่บ้านอีกอ่ะ เล็กกว่าที่จองมา บ้าไปแล้ว ต้องเดินลงมาเปลี่ยนเป็นหนที่ 3
ยังนะคะ ยังไม่สุด…ตบท้ายด้วยรถเมล์ค่ะ
นั่งรถเบอร์ 74 ออกมากินข้าว กะว่าจะไป Knightsbridge ระหว่างที่นั่งก็บอกนอยกับน้องว่าเดี๋ยวถ้าถึง South Kensington แล้วเห็นอะไรน่ากินก็กระโดดลงกันนะ จะได้ไม่ต้องไปไกล
ก่อนถึง S. Ken สักสามป้าย คนขับประกาศว่า we are terminating service at S. Ken แม่เจ้า นางแอบฟังเราพูดแล้วบันดาลให้ฝันเป็นจริงหรือไร
จบวันยาวๆ ที่ไม่มีอะไรไปตามแผนเลยด้วยเฝอร้อนๆ
สีสันของการเดินทางสวยงามสดใสเสมอ บางครั้งก็อ่อนหวานน่ารัก บางครั้งก็สีฉูดฉาดออกแนวโฉด เช่นครั้งนี้เป็นต้น

    3

    สาธิต

    ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เราพาครอบครัวเล็กๆไปรู้จักกับเพื่อนสนิทสมัยจุฬาฯที่ซีแอตเติ้ล  เรื่องราวก็เกิดขึ้นตามนี้ ป้าหนึ่งกับน้านอยต้องอดทนฟังหลานเอม เล่านิทาน ร้องเพลง วิ่งตุ้บตั้บไล่จับกันจนเหนื่อย แอบหนึไปนั่งทอดขา ใต้ร่มไม้ ให้หายเหนื่อย หนูเอมก็วิ่งตึงๆ หาป้าหนึ่ง เดินมาหามอมมี่ มองซ้าย ขวา แล้วหันมาถามว่า “Where is she?”  55  พอหันไปเจอ ก็วิ่งตึงๆไปหา ป้าหนึ่งนั่งพัก เหงื่อยังไม่ทันแห้ง ก้นยังไม่ทันอุ่น ก็ต้องอ้าแขนให้อีหนูวิ่งเข้าไปหา วิ่งไล่จับกันต่อ เป็นที่สนุกสนาน 

    วันนี้ หลานเอม ตัวโตกว่าป้าหนึ่ง ไม่ต้องวิ่งไล่ตามให้เหนื่อย นั่งคุยกันไป สบายๆชิลล์ ช่วยกันทำสวนก็ยังได้ วันนี้เอาแค่ถือกระป๋องใส่ดอกกุหลาบจากสวนของป้าหนึ่ง ที่ทะนุถนอม ปลูกเลี้ยงกันมาหลายปี ไว้มีโอกาสจะไปหาป้าหนึ่งกะน้านอยใหม่นะคะ

    9

    ชงโคไทม์

    D8A626EC-BCD4-4037-AAAB-3CFFB95421BB-9aa670c1

    เราคงจะเริ่มสว แล้วจริงๆ😅  ถึงชอบถ่ายรูปดอกไมั ถ่ายไว้เยอะๆ ก็เลยเอามาทำเป็นคลิปไว้ จะได้ส่งต่อได้ง่ายกว่าส่งรูปเยอะๆ และเราก็ได้เรียนรู้การทำคลิปง่ายๆ ด้วย 

    ถ่ายรูปดอกไม้… ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องความลงตัว… ณ เวลา ณ สถานที่ นั้นๆ พอเวลาเปลี่ยน ภาพที่เห็นเปลี่ยน ความรู้สึกก็เปลี่ยน…🌷🌸

     

      5

      ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับไซท์นี้😜😝😝

      เชิญเพื่อนๆร่วมกันแสดงความคิดเห็นไซท์ใหม่ของเราค่ะ อยากให้เพิ่มเติมตรงไหน แก้ไขอะไร และชอบมากแค่ไหน ช่วยกันติดดาวให้เต็มฟ้าเลยค่ะ 😜😝😝

        1

        episode 3ตอนสุดท้ายของซีรี่ยส์ขนหัวลุก (ที่ไม่มีชื่อเรื่อง)

        ความเดิมจากตอนที่แล้วที่เรา (คิดว่า) เห็นสาวน้อย คอกระเช้า ผมหน้าม้าเต่อ ใส่ผ้าถุงลายหม่นๆ นั่งเป็นเพื่อนพี่บุญรัตน์พิมพ์งานระหว่างไปทำข่าวในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ดินแดนแห่งทุ่งสังหาร

        แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรากับพี่บุญรัตน์ก็ได้แต่หัวเราะกัน เราก็ไม่รู้ทำไมไม่ได้นึกกลัวเลย (ถ้าเป็นตอนนี้อาจสติแตกไปแล้วก็ได้)

        แต่เรื่องขนหัวลุกในดินแดนทุ่งสังหารยังไม่จบ …….

        วันรุ่งขึ้น พวกเราก็ออกไปทำข่าวกันเหมือนเดิม พอพูดเรื่องนี้ทีไรก็หัวเราะกัน พี่บุญรัตน์ว่า “เปียอาจคิดไปเองหรือเปล่า” เราก็ได้แต่ว่า “งั้นมั้ง”

        ตอนที่แล้ว ยังไม่ได้เล่าว่า พี่บุญรัตน์เป็นคนง่ายๆ ทำงานด้วยได้อย่างสบายใจ ไปไหนไปกัน นั่งมอเตอร์ไซค์ไปทำข่าวในพนมเปญได้อย่างสบายๆ ถึงแม้จะกลัวๆ กับการจราจรในพนมเปญกับฝีมือการขับฉวัดเฉวียนของพวกไรเดอร์อยู่บ้าง

        คำที่เราจำได้แม่นเวลานั่งมอไซค์คือ “ยืด ยืด” (ซึ่งเป็นภาษาเขมรและเดาได้ไม่ยากว่าแปลว่า “ช้า ช้า” นั่นเอง) อีกอย่าง วันไหนโชคร้าย ก็จะได้ไรเดอร์ตัวเหม็น เรานั่งซ้อนอยู่ใต้ลม เกือบเป็นลมก็หลายที

        Photo: mad monkey hostel

        แต่อย่างไรก็ตาม มีความเคยชินอย่างหนึ่งที่เรากับพี่บุญรัตน์มีไม่เหมือนกัน คือ เวลาอยู่ในห้องพัก เราจะชอบเปิดทีวีทิ้งไว้ให้มีเสียงเป็นเพื่อน ถึงแม้จะไม่ได้ดูก็ตาม
        แต่พี่เขาบอกว่า ถ้าไม่ดูก็อย่าเปิดเลย ซึ่งเรื่องนี้เราก็ไม่มีปัญหาเพราะก็ไม่ได้จะดูอะไรมากมาย (โทรทัศน์อยู่ปลายเตียง)

        TV show in Cambodia/Photo : Khmer Times

        คราวนี้ กลับมาจากทำข่าวในวันรุ่งขึ้นหลังจากคืนนั้น พวกเราก็กลับมาที่ห้องพักในตอนเย็น พอเปิดประตูเข้าห้องมา เราก็เดินมาวางกระเป๋าเป้ไว้บนเตียงแล้วก็เดินเข้าห้องน้ำ

        เราก็ได้ยินเสียงโทรทัศน์เปิด เราคิดในใจว่า “เออ แปลก วันนี้พี่บุญรัตน์เปิดโทรทัศน์เองวุ้ย”  หลังจากนั้น เราก็ทำโน่นทำนี่ คุยโน่นคุยนี่กัน โดยเราก็ไม่ได้สนใจรายการในโทรทัศน์หรือคิดจะแซวพี่เขาเรื่องเปิดโทรทัศน์

        และแล้ว ในห้องก็เกิดสภาวะ dead air เมื่อพี่บุญรัตน์ถามว่า “เปีย เปิดโทรทัศน์ไว้ทำไมแล้วไม่ดู” ……

        เราหันไปมองหน้าพี่เขาและหันไปดูโทรทัศน์ เราบอกว่า “เราไม่ได้เปิด พี่บุญรัตน์เปิดไม่ใช่เหรอ” พี่เขาก็ว่า “พี่ไม่ได้เปิด ก็เปียเปิดตอนเดินเข้ามาไม่ใช่เหรอ”

        เราจำได้ว่า เราพูดเสียงดังเพราะตกใจว่า “เปล่า เราไม่ได้เปิด” ต่างคนต่างบอกว่า ไม่ได้เปิด

        หลังจากปฏิเสธกันไปมา ตอนนั้น เราจำไม่ได้ว่า สีหน้าพี่บุญรัตน์เป็นอย่างไร แต่เราจำได้ว่า เรานึกแต่ว่า “เฮ้ย เอาแล้ว สาวน้อยคนนั้นคงอยากดูโทรทัศน์มั้ง เฮ้ย ดุจัง …..”

        ตอนนั้น ยอมรับว่า กลัวเพราะไม่เคยเจออะไรอย่างนี้ ….ใจก็คิดยาวไปว่า ต้องขอย้ายห้องไหมเนี่ย หรือย้ายโรงแรมไปเลย (เราเป็นคนมองการณ์ไกล)

        แต่แล้วก็ยังไงไม่รู้ เราก็มองหารีโมททีวีเพื่อจะเอามาปิดทีวี (เหมือนว่า เพื่อปิดเสียงและลดบรรยากาศตึงเครียด) แต่ก็หาไม่เจอ หาบนโต๊ะที่อยู่ข้างเตียงที่เป็นที่วางประจำก็ไม่มี เราก็หาจนทั่ว ยกโน่นยกนี่………

        จนกระทั่ง เมื่อยกกระเป๋าเป้ของเราที่วางอยู่ปลายเตียงขึ้น และแล้วเราก็เจอรีโมททีวีวางอยู่อย่างเรียบร้อยใต้เป้นั่นเอง ………
        คงไม่ต้องบอกแล้วนะว่า ใครเปิดทีวี

        The End

        1

        อันเนื่องมาจาก คลองสามวา

        อ่านเรื่องที่เพื่อนเปียเขียนถึงหมู่บ้านที่อยู่ #คลองสามวาตะวันออก  มีเทือกสวนไร่นาคั่นเป็นระยะแล้ว  ก็ขอนำเสนอบริเวณที่เปียอาจไม่เคยเห็น  คือวิวด้านหลังศูนย์ธรรมธานี สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง (ใน 9 แห่งที่อยู่ในประเทศไทย) ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า   ศูนย์นี้เป็นสาขาในกรุงเทพฯ  สร้างอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว  เราไปศูนย์นี้ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน  แต่สมัยนั้นยังไม่รู้ว่ามีเพื่อนอาศัยอยู่   เมื่อธ.ค.2564 จึงเป็นครั้งแรกที่มีการนัดเจอเปียก่อนเข้าศูนย์
                   ตอนที่เจ้าหน้าที่จะช่วยขนของเราเข้าห้องพัก และถามว่าได้ห้องอยู่  “เบย์ไหน” (Bay)  เปียซึ่งยืนอยู่ข้างๆ ทำหน้าเหวอ เพราะได้ยินเป็น  “อยู่แดนไหน”  เปียคงกลัวว่าจะต้องมาส่งข้าวส่งน้ำให้เพื่อนเสียแล้ว 555

                    ด้วยความที่ห้องพักที่นี่จะสร้างตรงกลางเป็นทางเดินยาว ยื่นลงไปในทะเลสาบด้านหลัง  มีลักษณะเหมือนท่าเรือ จึงเรียกว่า Bay มีทั้งหมด 5 Bayๆ ละ 22 ห้อง (รวมซีกซ้าย/ขวา)  ห้องด้านในสุดของแต่ละเบย์ (ห้องที่ 21,22)  ขณะนั่งทานข้าวหน้าห้องตัวเอง จะมองเห็นวิวทะเลสาบด้านนอกอย่างชัดเจน  (แต่ละห้อง ที่ประตูจะมีเหล็กพับลงมาเป็นที่วางถาดอาหารสำหรับนั่งทานหน้าห้อง)

                เราเคยได้อยู่ห้อง เบย์1/21 เมื่อครั้งไปคอร์สช่วงปลายปี 2556-57  ปีนั้นถ้าจำได้ กรุงเทพฯ อากาศหนาวมากผิดปกติเหลือ 10 กว่าองศา

                    ส่วนห้องปฏิบัติของที่นี่อยู่บนชั้น 2   ข้างนอกห้องมีระเบียงหน้าต่างรายรอบ  ปกติมองออกไปจะเห็นวิวภายในหมู่บ้าน  แต่ในเช้าวันหนึ่งของปีที่หนาวมากนั้น  หลังออกจากห้องปฏิบัติรอบแรก (ตี 4.30-6.00 น.)  ทุกคนยืนตะลึงกับภาพทะเลหมอกอันหนาทึบ ราวกับยืนดูจากภูเขาสูง ปกคลุมจนไม่เห็นตัวหมู่บ้าน  และเนื่องจากตลอดการปฏิบัติ ทุกคนต้องรักษาความเงียบ, ปิดวาจา งดการสื่อสารทั้งหมด  (ยกเว้นให้คุยกับเจ้าหน้าที่ได้เมื่อมีเหตุจำเป็น  และต้องฝากของมีค่า/มือถือไว้ที่ล็อคเกอร์  ซึ่งจะได้รับคืนในวันสุดท้าย)  
                      ดังนั้น  นอกจากภาพทะเลหมอกอันสวยงามแบบไม่ต้องขึ้นเขาไปชมที่ไหนแล้ว  เรายังประทับใจกับการที่ทุกคนยืนนิ่ง มองอย่างดื่มด่ำ, เงียบสงบ,  ไร้เสียงพูดคุย  แต่มันจารึกลงในใจ โดยไม่ต้องแย่งกันบันทึกภาพ (เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดๆ 555)

                    ก็เลยไม่มีภาพทะเลหมอกเก็บไว้  ส่วนภาพพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้านี้  ถ่ายในวันสุดท้ายหลังจากได้รับมือถือคืน  แต่วันนั้นอากาศอุ่นขึ้น  ทะเลหมอกจางหายไปหมดแล้ว…

               สมาชิกหลายคนบอกว่า ไม่น่ามีตาข่ายเหล็กมาบดบังทัศนียภาพเลย  แต่เราขอตั้งชื่อภาพนี้ว่า “กำแพงสังสารวัฏ”   ลองจินตนาการว่าลิบๆ ฝั่งโน้น คือเป้าหมายของการก้าวเดิน  ที่ต้องการข้ามจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น  มันต้องผ่านอุปสรรคมากมาย  และกำแพงตาข่ายนี้ มันคือหนึ่งในกับดักที่ห่อหุ้มร้อยรัด  ซึ่งของจริงในสังสารวัฏ ยิ่งโยงใยเป็นตาข่ายสลับซับซ้อนถี่ยิบ   ที่ร้ายคือ มันโยงใยชนิดที่สายตาคนปกติมองไม่เห็น  คล้ายกับคลื่น World Wide Web ที่ปกคลุมโลกอยู่  และมันยากเหลือเกินที่จะก้าวข้ามทะลุทะลวงเข้าสู่มิติแห่งการหลุดพ้น

                    อย่างไรก็ตาม  เรามองภาพนี้ด้วยความหวัง  ด้วยว่ายังพอเห็นแสงสว่างรำไรๆ ให้เดินตาม  เคยมีครูบาอาจารย์กล่าวว่า ช่องทางที่จะลอดไปสู่อีกฝั่ง  มันเล็กมากๆๆ ยิ่งกว่ารูเข็ม   การจะผ่านไปได้นั้น คือการละทิ้งอัตตาตัวตนลงอย่างสิ้นเชิง

                    ท้ายสุด  คงมีอีกหลายสิ่งให้ค้นหา ณ ที่แห่งนี้  ใครสนใจลองไปดูได้นะคะ #คลองสามวา

        บันทึกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565

        3

        ผีที่บ้านริมน้ำ  (เกาะหลังเปียมาติดๆค่ะ) หมัด

        บ้านริมน้ำที่ผู้เขียนอยากเล่าถึง เป็นบ้านโบราณ สร้างมาก่อนคุณพ่อผู้เขียนเกิดราว สามสี่สิบปี นับเวลาแล้วคงร่วมร้อยปีได้ อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดวัดราชาธิวาส  (วัดสมอราย)  อยู่ในชุมชนวัดคอนเซปชัญที่ตั้งบ้านเรือนกันมาราวสามร้อยกว่าปี แต่วัดอายุน้อยกว่าชุมชน เพราะ สร้างขึ้นราวสมัยรัชกาลที่สาม แทนวัดเก่า โดยสังฆราชปัลกัว[1] ที่อ่านแบบไทยๆ สมัยก่อนว่า ปัลเลอกัว ระหว่างเขตวัดคริสต์กับวัดพุทธ  (วัดราชา) มีคลองเล็กๆที่มีสะพานไม้ให้เดินข้ามอยู่หน้าบ้าน คลองเล็กๆนี้เคยเป็นที่สานไมตรี สร้างโอกาสสนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างท่านปัลเลอกัว และล้นเกล้ารัชกาลที่สี่ เมื่อทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย  ปัจจุบัน คลองมีเขื่อนเล็กๆสร้างทับ ที่ทำหน้าที่เป็นประตูกั้นน้ำไป
                 ตัวบ้านตั้งอยู่บนดินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งริมน้ำเวลาน้ำขึ้น ใต้ถุนบ้านจะกลายเป็นน้ำไป เป็นเรือนไม้สองชั้น เดิมเป็นทรงปั้่นหยา แต่หลังคามักรั่ว เลยเปลี่ยนทรงหลังคาไปตามสมัย  มีนอกชาน กั้นระหว่างตัวบ้านและเรือนไม้สี่ห้องริมน้ำที่สร้างขึ้นให้พี่ๆผู้ชายที่โตแล้วอยู่ เรียกว่าริมน้ำจริงๆเพราะ เวลาน้ำขึ้น ข้างใต้จะเป็นผิวน้ำ หน้าหนาวที่อากาศเย็น ก็จะไม่หนาวมาก หน้าร้อน ก็จะอุ่นสบาย
                  ความที่อยู่ริมน้ำ ทำให้ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผีบ่อยๆ ทั้งยังอยู่ในชุมชนที่มีวัดตั้งอยู่ตรงกลางตามแบบหมู่บ้านโปรตุเกสเก่า ด้านหลังวัดจะเป็นที่สำหรับสุสานฝังศพ เรียกว่าใช้ชีวิตในหมู่บ้าน ได้ครบบริบูรณ์ (อิอิ แข็งใจหัวเราะ)
                  ที่วัดมีการตีระฆังลูกโต ที่เด็กชายที่วัดยินดีรับหน้าที่ตีระฆังที่แขวนไว้ยอดโบสถ์ เพราะสายเชือกที่ห้อยลงมาจะดึงสองสามคนที่ตีให้ลอยขึ้นลง เป็นที่สนุกสนาน  จังหวะการตีมีการสื่อความหมายต่างๆ เช่น จะบอกให้รู้ว่า วัดเข้าแล้ว  (หมายความว่ามีมิสซาในวัด) หรือ เวลาบ่ายสามโมงตรง ให้สวดยามบ่าย หรือในยามที่มีคนตาย ที่ฝรั่งเรียก bell tolling  ก็จะมีการสื่อสารในหมู่บ้านด้วยเสียงระฆ้งที่มีจังหวะช้ามาก โหวงเหวง ห่างกันอยู่สามครั้ง แต่ละบ้านก็จะส่งเด็กๆออกไปถามที่วัดว่าใครตาย ตั้งศพเมื่อไหร่ จะได้ไปช่วยกันสวดศพ ช่วยกันคนละไม้ละมือ
                 ผู้เขียนมักมีจินตนาการกว้างไกล จึงไม่ค่อยออกนอกบ้านในยามกลางคืนค่ะ  เพราะเคยเห็นเงาต้นกล้วยแถวทางเดิน ตอนกลับบ้านในยามพลบค่ำ แปรสภาพไปและหูแว่วๆได้ยินเสียงหัวเราะอิอิ เลยวิ่งเตลิดล้มลุกคลุกคลานเข่าเปิงไป เลือดซิบ จนต้องปิดพลาสเตอร์ไปหลายวัน
                 ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องผีริมน้ำ  คือพี่ชายที่อายุราวสิบสี่สิบห้าเล่าให้ฟังในวงกินข้าวว่า เมื่อคืน ตอนดึก อยู่ๆก็นอนไม่หลับ ลืมตาอยู่ ไม่ได้คิดอะไร อยู่ๆขาสั่นไปทั้งตัว
                 “อ้าว แล้วทำไง” ทุกคนถาม
                 “ก็สวดบทสวดข้าแต่พระบิดาฮะ มันก็เลยหยุดสั่น เลยหลับต่อได้”

                 เรื่องที่สอง มาจากป้าสม แม่ครัวกับพวน พี่เลี้ยงคุยกัน พวนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่พึ่งเข้ามาทำงานในบ้าน หน้าตาตื่นปรึกษาแม่ครัวว่า “ ป้า เมื่อคืนตอนดึกหนูลุกไปเข้าห้องน้ำ  เห็นใครก็ไม่รู้เดินเล่นอยู่กลางลานบ้าน”
        “ใส่ชุดขาวๆใช่ไหม ไม่ต้องตกใจ นั่นเจ้าที่ ออกมาตอนตีสองตีสามประจำ”
        “อ้าว แล้วคนอื่นไม่กลัวกันเหรอ ป้า”
        “พวกนี้เค้าเกิดที่นี่ เค้าไม่เคยเห็นกันหรอก”  (ผู้เขียนแอบงง จริง ไม่เคยเห็นค่ะ)
                 ป้าสมผู้นี้ เป็นผู้มีความรู้แปลกใหม่ที่ทำให้ผู้เขียนทึ่งเสมอ เช่น เวลาลมพัดแรงมีพายุ ต้อง เอามีดใหญ่ๆไปเสียบไว้ที่ช่องระหว่างกระดานให้ปลอดภัย 

         


        [1] เรื่องราวท่านปัลเลอกัวหาอ่านได้ในหอจดหมายเหตุอัครสังฏฆมณทลกรุงเทพค่ะ https://catholichaab.com/main/index.php/2015-09-22-02-42-26/biography/2015-09-22-08-08-12/445-baptiste-pallegoixมีอีกครั้งที่ผู้เขียนประทับใจในท่าเดินของหนุ่มคนนึง ที่ไปเห็นเข้าที่โรงเรียนกวดวิชา ตัวสูงๆ เดินโหย่งๆ ดูเท่ห์มาก ไปเดินให้ป้าสมดู ป้าสมร้องโอ้ย

        “คุณ อย่าเดินอย่างนี้ เค้าเรียกเดินขย่มธรณี ใครเดินอย่างนี้ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น”

               เรื่องที่สาม คือ  เรื่องที่พระสงฆ์เทศน์ให้ฟังในวัด (อันนี้ credibility สูงมาก) ว่า
         “พี่น้องครับ เมื่อคืนวาน พ่อได้ประสบกับเรื่องแปลก เลยขอเล่าให้พี่น้องฟัง มีคนเรือ[1] มาหาพ่อ บอกให้ไปช่วยไล่ผีที่สิงคนหน่อย พ่อก็ไป เดินลงไปเรือของเขา คนที่เขาบอกว่าถูกสิงนั่งเหม่อลอย พูดไม่รู้เรื่อง ญาติบอกอาการเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่กลับมาจากงานศพ พ่อก็สวดขอพระจิตเจ้าทรงช่วย ปกมือบนศีรษะเขา พอสวดครบสามครั้ง เขาก็ตื่นขึ้น รู้สึกตัว ญาติถามว่า หิวไหม เขาก็บอก หิวสิ ยังไม่ได้กินอะไรเลย  ญาติบอกเมื่อกี้ เรียกกินข้าว ตัวเองบอกกินแล้ว มีคนเอามาให้กินเยอะแยะไง”  คุณพ่อสั่งสอนต่อ แต่ความที่ผู้เขียนจับประเด็นไม่ค่อยเก่งตามประสาเด็กโง่ น่าเสียดายมาก เพราะคุณพ่อท่านนี้ มีความรู้ความศรัทธา และความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง กลับจำได้แต่เรื่องผี ข้อสอนใจสำคัญ ที่คุณพ่อตั้งใจสอนกลับจำไม่ได้ กลายเป็นเรื่องใกล้เกลือกินด่างไปเสีย

        เรื่องที่สี่คือ เสียงเรียกนอกรั้ว
           ในบ้านริมน้ำนี้ มีส่วนที่เป็นห้องยาวติดรั้ว ที่ถูกเรียกว่าเรือนคนใช้ ประตูเข้าบ้านมีสองทาง ประตูแรก คลองด้านหน้าที่เดินออกไปวัดราชา ประตูด้านหลัง เป็นทางเดินเข้าหมู่บ้าน ไปโบสถ์ วัดคอนเซปชัญ เรือนคนใช้นี้จะเป็นส่วนที่ติดรั้วมีสะพานไม้ที่อยู่ด้านหลังของบ้าน มักได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงในยามค่ำคืน เสียงวิ่งของนักฉกชิงวิ่งราว  ภายหลังบิดาของผู้เขียน (ที่เป็นคนสร้างสะพานทางเดินเล็กๆนี้) จึงสร้างประตูปิดล่ามโซ่ อยู่กลางทางเดินหลังบ้าน ไม่ให้ใครผ่านในยามวิกาล ตั้งแต่ สิบเอ็ดโมงไปถึง หกโมงเช้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของชุมชน   แม่ค้าบางคนที่ต้องเดินทางไปตลาดเทเวศร์ ต้องผ่านแต่ตีห้า จะมาเคาะประตูเรียกพี่เลี้ยงให้ไปเปิดให้เสมอ 
               วันหนึ่ง เอียด พี่เลี้ยงได้ข่าวจากทางบ้านว่าแม่ที่ป่วยอยู่เสียแล้ว ตกดึก เธอได้ยินเสียงแม่เรียกชื่อ “เอียด เอียด”
               เธอกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ พอดีป้าสม ที่นอนถัดกันออกไป กระซิบบอกแผ่วๆว่า
        “อย่าตอบ เค้าจะมาเรียกเธออยู่สามวันแล้วก็ไป ถ้าเธอตอบเค้าจะมาเรียกเธอทุกวัน!
                
               ต่อมาพวกเราได้ย้ายบ้านจากสามเสนไปอยู่ฝั่งธน ปิดบ้านเก่าไว้เฉยๆ บ้านที่ไม่มีใครอยู่มักทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  คุณแม่ผู้เขียนจึงคิดจะสร้างบ้านใหม่ในที่เดิม ต้องรื้อบ้านเก่า และถมที่ทำเขื่อนกันน้ำเซาะตลิ่ง เมื่อตอนที่รื้อบ้าน เป็นอีกครั้งที่ได้ยินเรื่องผีบ้านผีเรือนของบ้านริมน้ำ
        เรื่องมีอยู่ว่า คนรับเหมาตกลงรื้อบ้าน พาคนงานมาลงมือรื้อบ้านเก่าร้าง รื้อๆไป ก็พากันสะดุ้ง เพราะเห็นคนเดินเข้าเดินออกบ้านที่ไม่ใครอยู่ เข้าห้องนี้ ออกห้องโน้น เดินไปดูก็ไม่เห็นใคร  ที่เด็ดที่สุดคือ ยามโพล้เพล้ มีลุงออกมาชี้หน้าคนงาน พูดว่า มาทำอะไร บ้านนี้ เค้าอยู่กันมานานแล้ว อยู่ๆจะมารื้อบ้านกันได้ยังไง คนงานได้แต่ไหว้ บอกผมรับงานเขามาครับ เขาสั่งมารื้ิอ
         ผู้รับเหมาเลยแก้ปัญหา รีบยกทีมมารื้อให้จบแต่ตอนบ่ายแก่ๆ แล้วกลับ ไม่กี่วันก็จบ สร้างเขื่อนลง ถาม ว่าจะขนไม้ไปไว้ที่ไหนดี  เสียดายมาก เพราะมีแต่ไม้หน้าสามทั้งนั้น[2]  พอดี คุณแม่เลยส่งไปไว้ที่ไร่แถวราชบุรี เป็นอันจบตำนานบ้านไม้ริมน้ำ ปัจจุบัน บ้านใหม่ เป็นตัวบ้านไม้กึ่งตึก ยังไม่มีปรากฏการณ์อะไรมาเล่าสู่ค่ะ

         


        [1] สมัยก่อน คนเรือ คือคนที่ใช้เรือเอี้ยมจุ้นเป็นบ้าน จอดริมแถวท่าเรือวัดราชา ที่เคยเป็นที่ขนทรายคึกคักอยู่  เรือนี้จะผูกโยงไว้กับไม้ที่ปักลงดินที่พื้นน้ำ
        [2] ไม้หน้าสาม คือไม้ขนาดพอเหมาะกับการใช้ในการก่อสร้าง คือ หน้าตัด 1.5”x 3” ที่ฝรั่งเรียกว่า two by four นิยมใช้เพราะไม้อเนกประสงค์ ใช้เป็น ไม้โครง รัดแบบ ค้ำยันฯลฯ ได้
        1