เพริศเพลิน

#บ้านพี่อยู่คลองสามวาตะวันออก

เพื่อนอยู่หมู่บ้านนี้มามากกว่า 20 ปี ตั้งแต่ถนนหนทางยังเป็นลูกรังขรุขระจนเดี๋ยวนี้เป็นถนน 6 เลนแล้วและเชื่อมต่อกับที่อื่นๆ มากมายทำให้ไปไหนมาไหนสะดวก อีก 2 ปี ก็จะรถไฟฟ้า (สายสีชมพู) มาหาแถวนี้ด้วย

บ้านเพื่อนอยู่ห่างจากปากทางเข้าหมู่บ้านเกือบ 4 กิโลเมตร ตอนมาอยู่ใหม่ๆ คนยังไม่เยอะมาก กว่าจะถึงบ้านก็ต้องผ่านท้องนาเป็นระยะและไฟถนนก็ยังมีไม่มาก
เมื่อต้องนั่งแท็กซี่เข้าในหมู่บ้านตอนค่ำๆ  ทั้งเพื่อนทั้งโชเฟอร์ก็มักมองกันอย่างหวาดๆ เมื่อเพื่อนชวนคุยทำนองว่า “ทางเข้าไกลและมืดเนอะ กลัวแท็กซี่เหมือนกัน เจอดีก็ดีไป” โชเฟอร์คนหนึ่งพูดว่า “ผมก็กลัวพี่” 555 (เพือนมักทิปให้เขาเพราะต้องตีรถเปล่าออกไปอีกหลายกิโล)

เพื่อนรู้จักหมู่บ้านที่อยู่น้อยมากเพราะไม่ค่อยได้ออกนอกเส้นทาง สายๆ ก็ขับรถออกจากบ้านไปทำงาน ค่ำๆ ก็ขับรถตรงแน่วกลับบ้าน เพื่อนบ้านก็พอรู้จักแต่เป็นบ้านใกล้ๆ กัน ชื่อซอยในหมู่บ้านก็ไม่เรียงกันอย่างที่อื่น เพราะเจ้าของที่ขายที่ให้บริษัททำหมู่บ้านไม่ได้เป็นผืนใหญ่ ขายเป็นผืนย่อยๆ ห่างกันบ้างใกล้กันบ้าง หมู่บ้านก็ตั้งชื่อซอย โฮมนั้นโฮมนี้ตามยถากรรม

อย่างซอยของเพื่อน (การ์เด้น 4) จะอยู่ระหว่างโฮม 10 กะโฮม 15  จนถึงตอนนี้ เจ้าของที่ (ที่มีอาชีพทำนา) ก็ยังมีที่ในหมู่บ้านที่ใช้ทำนา) ดังนั้น ในหมู่บ้านก็จะมีที่นาคั่นเป็นระยะๆ 

เกริ่นมาซะยาวหลายบรรทัด ครือกำลังจะเล่าว่า เพิ่งมีโอกาสรู้จักหมู่บ้านที่อยู่มานานมากขึ้นหลังจากกลับไปเดินออกกำลังกายตอนเย็น (ก่อนหน้านี้ หลังจากเนชั่นปิดก็เคยพยายามเดินตอนเย็นๆ แต่พอแม่เพื่อนทักว่า ไปทำอะไรมา ดำไป ก็เลยเลิก 555)

ที่ต้องออกกำลังกายบ้างเพราะคิดว่า ถ้าป่วยเป็นอะไรไปจะได้แข็งแรงสู้กับโรค ไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเพราะโรคสมัยนี้ ป้องกันยากโดยเฉพาะมะเร็งที่หลายคนเป็นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า แต่เป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับและอื่นๆ อีกมากมาย คุณนายแม่ของเพื่อนก็จากไปเพราะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งๆ ที่ในครอบครัวหรือบรรพบุรุษไม่เคยมีใครเป็นมะเร็ง

หลายคนอาจสงสัยว่า การไปเดินตอนเย็นทำให้รู้จักหมู่บ้านได้อย่างไร ยังมีตัวละครอีกตัวที่กำลังจะเล่าให้ฟัง ซึ่งคือ น้องโอ๋ (อายุ 38)เพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไปจากบ้านเพื่อนไป 3-4 หลัง เแม่เขาซึ่งอายุมากกว่าเพื่อน 2 ปีสนิทกับคุณนายแม่ จะว่าไปแล้ว เพื่อนมีศักดิ์เป็นน้า แต่โอ๋เรียกเพื่อนว่า พี่ ซึ่งเพื่อนก็ไม่ทักท้วง 555

วันนึง เพื่อนรดน้ำต้นไม้อยู่ในบ้าน โอ๋ก็เดินผ่านหน้าบ้าน เขากำลังจะไปเดินออกกำลังกาย เขาก็ยกมือไหว้ทักทาย พอเพื่อนรู้ว่า เขากำลังจะออกไปเดินก็เลยขอตามไปด้วย นั่นเอง เพื่อนก็ได้เปิดโลกใหม่และรู้จักหมู่บ้านและคนในซอยมากขึ้น (เว่อร์ไหม 555)

โอ๋อยู่หมู่บ้านนี้มานาน (แต่น้อยกว่าเพื่อน) อยู่มาตั้งกะเด็ก ด้วยความเป็นเด็กช่างคุย ช่างทักทายและมีสัมมาคารวะ โอ๋รู้จักคนมาก เวลาเดินออกกำลังกายก็จะทักคนโน้นคนนี้ไปทั่ว โอ๋เองจะมีคนมาทักเป็นระยะๆ เพื่อนเลยได้พลอยรู้จักคนนั้นคนนี้ไปด้วยเช่น พี่น้อง เจ้าของร้านซุปเปอร์ในบ้าน คนนี้ขายบาร์บีคิวตรงตลาด คนนี้อยู่ในซอยเดียวกับเราไง (หลายคนรู้จักคุณนายแม่พราะแม่ก็ชอบเดินเล่นหน้าบ้านและซื้อของจากไลน์หมู่บ้าน)

การเดินยามเย็นทำให้เพื่อนรู้จักซอกซอยในหมู่บ้านมากขึ้น มีโอกาสได้เดินไปหลังหมู่บ้านโดยออกทางประตูที่กำแพงหลังหมู่บ้าน โอ๋พาเพื่อนเดินไปอีกหมู่บ้านนึงที่อยู่ใกล้ๆ กันที่เพื่อนไม่เคยคิดจะแวะไป เป็นต้น สองคนน้าหลานชอบ explore เส้นทางใหม่ๆ ถ้ามีซอยที่ไม่เคยรู้จักก็มักจะเดินเข้าไป ก็จะได้รู้จักเส้นทางใหม่ๆ เจอบ้าน เจอคนใหม่ๆ

ระหว่างทางโอ๋ก็มักเล่าโน่นเล่านี่ให้ฟัง เรื่องตัวเองบ้าง (เขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูก 2 คน คนเล็กเป็นเด็กพิเศษ) เรื่องในหมู่บ้านบ้าง แต่ที่สังเกตได้คือ เวลาเล่าเรื่องคนอื่นก็จะเล่าแต่เรื่องดีๆ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เม้าส์เพื่อนบ้าน แต่เป็นส่วนน้อย

ระหว่างเส้นทางที่เดินออกกำลังกาย เราก็มักเจอพืชผักต่างๆ ข้างทาง เช่น บวบ กระถิน มะรุม ผักบุ้งและอื่นๆ โอ๋ก็ชอบจะเก็บผักพวกนี้ บอกว่าจะเอาไปกินกะน้ำพริกหรือต้มจืด เพื่อนไม่สนใจเพราะไม่ทำกับข้าว

คราวนึง ไปเจอบวบอ่อนๆ ข้างทาง โอ๋ตื่นเต้นมากเพราะชอบกินบวบ แต่เพื่อนว่า จะกินได้ไหมนั่นเพราะถ้ากินอร่อย น่าจะมีคนเก็บไปหมดแล้ว ซักพักก็เจอชาวบ้านแถวนั้น เขาก็ว่า บวบนี้แข็งกินไม่อร่อย เขาเองยังไม่เก็บ โอ๋หันมาทำหน้าเศร้าและว่า พี่เปียสงสัยถูกต้อง

วันหน้าจะมาเล่าให้ฟังใหม่นะว่า เจออะไรระหว่างการเดินอีกบ้าง และช่วยให้กำลังใจเพื่อนให้น้ำหนักด้วยนะ 555

1

ฮอลิเดย์

ขึ้น คศ 2022 วันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ไปไหนดี โควิดยังอยู่คู่ฟ้าทุกเมืองในโลก หลังจากอกหักเพราะต้องยกเลิกทริปกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยเนื่องด้วยเหตุผลนานานับประการ แรงระบาดของโควิดก็เป็นหนึ่งในนั้น โควิดๆๆๆ อยู่ในทุกสมการของชีวิต แม้ผลเทสต์ออกมาเป็นลบ แต่เราต้องบวกโควิดเข้าไปกับการตัดสินใจทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เฮ้อ…

อย่ากระนั้นเลย ไหนๆลูกกลับมาบ้านพร้อมหน้า แทนที่จะนั่งเหงาหงอยอยู่แต่ในบ้าน หาที่พักผ่อนแบบไม่ต้องขึ้นเครื่องก็ได้ เลือก Carmel-by-the-sea เมืองอาร์ตติสสวยงามตั้งอยู่ริมทะเลทางด้านใต้ของซานฟรานฯ ขับรถเกือบสามชั่วโมงก็ถึง วิ่งบนเส้น Hwy.1 ขนานไปกับมหาสมุทร แปซิฟิค เห็นทะเลซัดโขดหินผาเป็นฟองกระจาย พื้นน้ำแบ่งพื้นที่กันคนละครึ่งกับแผ่นฟ้ากว้างใหญ่และไกลสุดลูกหูลูกตา เป็นสัดส่วนที่อลังการมากเมื่อเทียบกับไซส์มนุษย์เดินดินอย่างเรา ลดอัตตาได้ชะงัดนัก ถ้าโชคดีอาจได้เห็นปลาวาฬผลุดโผล่เป่าน้ำพุให้ดูเป็นของขวัญปีใหม่ก็ไม่เลว

ว่าแล้วก็เลือกโรงแรม คราวนี้เด็กๆตัวโตๆกัน จองห้องเดียวถ้าจะไม่ไหว แย่งห้องน้ำกันวุ่นวาย เข้าของกระจุยกระจายดูแล้วขัดตานัก งานนี้เลยต้องทุ่มทุนสร้างซื้อบรรยกาศเพื่อไม่ให้เหมือนอยู่บ้าน สองปีที่ผ่านมาอยู่บ้านคุ้มค่าผ่อนแต่ละเดือนมาก กัดฟันจองสองห้องละกัน โรงแรมดูสวยงามเพิ่งจะรีโนเวท รีวิวร้านอาหารบอกว่าอาหารเช้าอร่อยใช้ได้ แต่ไม่ฟรีนะ จะว่าไปแล้ว โรงแรมเมืองไทยดีตรงนี้

ส่วนใหญ่ราคาห้องจะรวมอาหารเช้าด้วย ระดับแปะอวดบนอินสตแกรมได้ ที่นี่ถ้าเป็นโรงแรมราคาประหยัดแต่รวมอาหารเช้าให้ โอย เสียตังค์ไปกินกาแฟกับครัวซองของบั๊คส์จะคุ้มกว่ามาก พูดถึงเรื่องของกินเรามักจะเฉไฉเลยเถิดไปไกล กลับมาที่โรงแรมที่จอง  ลูกสาวบอกว่า “มอมมี่ๆ โรงแรมมี Hot tub มั้ย ต้องมีนะ ไม่งั้นไม่ไป” เพราะฉะนั้น กฏเกณฑ์ข้อแรกในการเลือกที่พักของครอบครัวคือ ต้องมีสระว่ายน้ำและ Hot tub แต่ในความเป็นจริงจะลงน่้ำหรือไม่อีกเรื่องนึง ข้อที่สองต้องมีบาร์เอาไว้ดริ๊งค์แต่ไม่ดรั๊งค์ อันนี้ของพ่อบ้าน ลองเชคดูก็มีครบทั้งสองอย่าง ไม่ได้บอกว่าปิดด้วย เพราะปีที่แล้วโรงแรมที่ไปพักมักจะปิดสระ ปิดบาร์ ปิดร้านอาหารและกิ๊ฟช้อปในโรงแรมเนื่องด้วยโควิด ปิดแบบรู้อย่างงี้อยู่บ้านดีกว่า ค่าที่พักก็ไม่ได้ลดสักเปอร์เซ็นต์เดียว แม้ว่าจะเปิดแบบแง้มๆ ไม่มีบริการเก็บห้อง เปลี่ยนผ้าปูที่นอน เทขยะ เปลี่ยนผ้าเช็ดตัว รายวัน ยกเว้นจะจองอยู่เกินสี่คืน ที่นี่ไม่มีโครงการเที่ยวด้วยกัน ไม่มีระบบเป๋าตังค์ แบบรัฐบาลไทยช่วยจ่าย ช่วยเชิญกันมาเที่ยว  เอาเถิด It is what it is …. ได้ฤกษ์จัดกระเป๋าเดินทาง ของเรากับสามีรวมกันใบเดียวพอ ของลูกเป็นเป้ เป็น carry on คนละใบ ไม่ลืมเตือนให้ลูกๆเอาชุดว่ายน้ำไปด้วย

ระหว่างทางแวะโน่นนี่ กินกลางวัน ช้อปนิดหน่อย ไหนๆร้านอาหารอยู่ในห้างก็เพื่อไม่ให้เสียโอกาส จากที่ว่า สามชั่วโมงก็ถึง กลายเป็นห้าชั่วโมงกว่าจะถึง และรถบนถนนก็เยอะมากกว่าปกติ สงสัยใครๆก็คิดแบบเรา ไม่บินไปไหน หายใจรดกันบนเครื่อง หันมาขับรถเอาแทน  ไปถึงโรงแรมเชคอิน ทุกอย่างด้านนอกเหมือนในรูปบนอินเตอเนตเป๊ะ ตื่นเต้นมาก อยากลงจุ่ม Hot tub แก้เมื่อยที่นั่งมานานในรถ เปิดท้ายรถเพื่อขนสัมภาระเข้าห้องถึงได้รู้ว่าลืมกระเป๋าเดินทางทั้งใบไว้ที่บ้าน!!!!???? สติๆๆ อยู่หนายๆๆ จงเข้ามาสิงร่างช้านด่วนนน ว้าๆๆๆ ความผิดของใคร  โอยๆ เวลานี้ห้ามโทษกัน เพราะของอยู่ในกระเป๋าทั้งคู่ ชุดที่ใส่มานี้จะไหวไหมอีกสองคืน ไม่ได้ๆ ชีวิตต้องมีกรอบ ชุดชั้นในยังไงก็ใส่ซ้ำไม่ได้เด็ดขาด เหลืออีกสองชั่วโมงห้างจะปิดแล้ว ไม่รีบดำเนินการจะฉุดสถานการณ์ให้แย่ลง งานนี้ต้องเป็นทีมเวิร์ค ส่งลูกเข้าห้องพักเรียบร้อย สามีภรรยาก็แจ้นออกไปมอลล์ที่อยู่ใกล้ที่สุด ช้อปเร็วที่สุดในชีวิตก็งานนี้แหละ หวังว่าชุดชั้นในที่ซื้อมาไม่มีลูกค้าคนไหนแอบลองใส่ดูก่อนละกัน เพี้ยงๆ 

ในยามเคราะห์ก็มีโชคเล็กน้อย โรงแรมอัพเกรดห้องให้ เพื่อจะได้อยู่ตึกเดียวกับลูกๆ เลยได้ห้องติดสระว่ายน้ำ เดินออกไปจากประตูห้อง มีระเบียงชายคาให้นั่งเล่น แล้วก็ดิ่งไปที่สระได้เลย วิวสวยและสะดวกดี ว่าจะเปลี่ยนชุดลงน้ำซะหน่อย เห็นเด็กๆยังกระโดดกันตูมๆ กรี๋ดกร๊าด เสียงดังเลยเปลี่ยนใจ รอพรุ่งนี้ละกัน คืนนี้เล่นเกมส์ที่เอามาจากที่บ้านกับลูกๆก่อนละกัน ถือเป็น family quality time วันรุ่งขึ้น ทันทีที่สระเปิดให้ใช้ คือ 9 โมงเช้า เด็กๆจากเมื่อคืนรวมกับหน้าใหม่ๆเพิ่มมาอีกหลายคนก็ลอยเล่นตีน้ำป๋อมแป๋มอยู่ในสระแล้ว อืมม… เดี๋ยววันนี้มีโปรแกรมไปดูศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ บ่ายนี้กลับมาค่อยลงก็ได้ กลับมาบ่ายแก่ๆเด็กๆก็ยังเล่นน้ำกันอยู่เต็มสระ โอย หนูๆจะไม่ไปเที่ยวไหนกันหรือเนี่ย วันๆอยู่แต่ในโรงแรมเล่นน้ำสระ ลูกๆบ่นว่าห้องติดกันก็มีแต่เด็กๆ วิ่งกันตึงๆ ตะโกนไปมาหนวกหูนอนแทบไม่หลับเลย ต้องทำใจ เที่ยวช่วงเทศกาลก็จะเจอนักท่องเที่ยวที่ยกกันมาทั้งบ้านแบบนี้แหละ คิดถึงตอนลูกๆยังเล็กๆ ก็คงหนวกหูเสียงดังรบกวนชาวบ้านเขาเหมือนกัน แฮ่… เหมือนมาวาเคชั่น ก็ยังต้องรับใช้กรรมที่ทำเอาไว้….  เอวัง!

0

ฉลองคริสมาสต์สไตล์ออสซี่ที่ไม่เหมือนใคร

by Aor

ร้อนมากค่ะคริสมาสต์ที่ออสเตรเลีย อุณหภูมิก็สามสิบกว่าๆ องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ขณะที่นั่งเขียนอยู่นี้ก็เหงื่อซึมๆ พอได้​อยู่ค่ะ ร้อนขนาดว่าซานตาคลอสนุ่งขาสั้นไปเล่นเซิร์ฟกันเลยล่ะ ลงทางปล่องไฟไม่ไหวแน่ๆ
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าว่าคนออสซี่เค้าฉลองคริสมาสต์กันแบบไหน

-บาร์บี้นี้สำคัญมาก ปิ้งย่าง ดื่มเบียร์เย็นเจี๊ยบตบเข้าไป อือม์เจริญอาหาร ไม่เมาไม่เลิกฉลอง ว่างั้น

-ไก่งวงไม่เอาค่ะ กุ้งต้มนี่มายืนหนึ่งเลย ช่วงคริสมาสต์กุ้งจะราคาสูงโด่ง แต่ก็ขายดีชมัด คนเข้าคิวซื้อกันเลยล่ะ หอยนางรมสดๆ ก็นิยมทาน เอาเป็นว่าอาหารทะเลที่ไม่ร้อนจากการปรุงสุกจะเป็นที่นิยมทานกันในวันคริสมาสต์ที่ออสเตรเลีย

-ไปทะเล ดำผุดดำว่ายหายร้อนให้ผู้คนทางโซนยุโรปและอเมริกาอิจฉาเล่น
-ถึงจะร้อนอย่างไร คนออสซี่เค้าก็ยังจัดตกแต่งต้นคริสมาสต์แบบต้นตำรับคือมีหิมะปลอมขาวๆ ด้วย นิดนึงนะ ไม่งั้นจะดูแห้งๆ ไม่เป็นคริสมาสต์

-หลังจากวันคริสต์มาสจบลง ก็ต่อด้วยการลุ้นกีฬาตามสไตล์พี่ออสซี่ชื่นชอบกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ Rolex Sydney to Hobart Yacht Race เป็นการแข่งขันล่องเรือประจำปีจัดโดย Cruising Yacht Club of Australia เส้นทางเริ่มต้นจากซิดนีย์ในวัน Boxing Day (26 ธ.ค.) ไปจบที่เมืองโฮบาร์ต รัฐแทสมาเนีย การแข่งขันนี้ถือเป็นหนึ่งในการแข่งเรือยอร์ชที่ยากที่สุดในโลก

-นอกจากการแข่งเรือแล้ว วันที่ 26 ธันวาคม (Boxing Day) ยังเป๊นวันที่ผู้คนจะเหยียบกันตายตอนไปแย่งเข้าร้านค้าเพื่อซื้อของลดราคาหลังคริสมาสต์

พอหอมปากหอมคอกันนะคะกับเรื่องราวการฉลองคริสมาสต์สไตล์ออสซี่
ขออวยพรให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข แข็งแรง 
ปลอดภัยและมีอายุยืนยาว Merry Christmas ค่ะ

0

เธอชื่อ Karen

เมืองไทยมีมนุษย์ป้า อเม มี Karen  Karen แจ้งเกิดพร้อมๆกับกลุ่มเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter ซึ่งอันหลังเพื่อนๆที่เมืองไทยคงได้อ่านข่าวกรณี George Floydd (คนดำที่ถูกตำรวจผิวขาวเอาเข่านั่งทับต้นคอทำให้ขาดออกซิเจนจนเสียชีวิตในที่สุด) ผ่านตามาบ้างแล้ว 

 

ไม่มีใครรู้แน่ว่าทำไมถึงต้อง Karen เดากันว่า ชื่อนี่ฟังฟะรั้ง ฟะหรั่งมาก ได้มโนภาพของผู้หญิงฝรั่ง ผมบลอนด์ ตาสีฟ้า วัยยี่สิบกว่าๆถึงวัยกลางคน น่าเห็นใจผู้หญิงที่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า Karen นะ เพราะคนที่เกิดมาชื่อ  Karen ที่เรารู้จัก เค้าก็เป็นคนดีน่ารักทุกคน อยู่ดีๆชื่อก็ถูกแฮปไปซะอย่างนั้น ถ้า Karen ยุคโควิดนี้หมายถึงคนที่อ่อนหวาน ใจดีก็ว่าไปอย่าง ในทางตรงกันข้าม กลับมีความหมายไปทางลบ หมายถึงผู้หญิงฝรั่งผิวขาวที่เอาแต่ใจตัวเอง เจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตคนอื่นโดยเอามาตรฐานส่วนตัวเป็นหลัก 

 

ในขณะที่มนุษย์ป้าของเราออกจะเอะอะโวยวาย มีพฤติกรรมที่เราต่างต้องมองบน เช่น ชอบเบียด ชอบแซงเล่นพวกจนลืมมารยาทของสังคม และป้าชอบแต่งตัวแบบมีสไตล์โดดเด่นไม่เก๋แต่มั่นใจ  Karen จะแทรกซึมในแทบทุกชนชั้นของอเม มีทุกระดับ ล่าง กลาง บน แต่เหมือนกันหมดตรงที่มักมโนไปเองว่าตัวเองดีกว่า รู้มากกว่า  คอยสอดส่องจับผิดชาวบ้าน โดยใช้ตรรกะ(มัก)ง่ายๆคือผิวสียิ่งคล้ำยิ่งต้องสงสัย  เพราะฉะนั้น Karen จะให้ความสนใจเพ่งเล็งคนผิวดำเป็นพิเศษ โยใช้มือถือเป็นอาวุธพร้อมจะโทรเรียกตำรวจ และบันทึกเหตุการณ์ทุกอย่างที่คิดว่าเข้าประเด็นที่นางตั้งขึ้นมา น่าเสียดายที่ความหวังดีโดยให้ร้ายคนอื่นของ Karen ไม่ได้ทำให้สังคมน่าอยู่หรือสุขสงบขึ้นแต่อย่างใด พฤติกรรมของKaren ตกเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ตลอด เช่น นิวยอร์คคาเรนนางหนึ่ง กล่าวหาว่าชายผิวดำที่กำลังส่องกล้องดูุนกในพาร์คเป็นผู้ต้องสงสัย วางแผนกระทำชำเราผู้หญิง คู่เกย์เชื้อชาติเอเชียที่มีบ้านอยู่ในย่านหรูของซานฟรานฯเขียนกำแพงเพื่อสนับสนุน Black Lives Matter ซานฟรานฯคาเรนก็หาว่าเขาเป็นโจรมิจฉาชีพมาจากพื้นที่อื่น พยายามทำลายทรัพย์สิน ความสวยงามของบ้านเรือน  โดยเหมาเอาเองว่า ผิวไม่ขาวพอจะมีตังค์อยู่ย่านนี้ แม้แต่เด็กผิวดำที่ตั้งซุ้มขายน้ำมะนาวเป็นค่าขนมยังมิวายรอดสายตา Karen หาว่าทำธุรกิจโดยมิได้รับใบอนุญาตในที่สาธารณะ อุแม่เจ้า Karen หาเรื่องแม้แต่กับเด็ก ลูกเราเคยขายของสารพัด หาเงินช่วยโรงเรียนมั่ง เป็นค่าขนมกินเองมั่ง เวรกรรม โชคดีไปที่ยุคนั้นยังไม่มี Karen นอกจากนี้ บริการต่างๆตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เมื่อใดที่ไม่เข้าทาง Karen นางก็จะถามหาผู้จัดการ เตรียมหาเรื่องโวยทันที ที่เด็ดสุดคือ Karen นางหนึ่งทำลายชั้นวางขายหน้ากากอนามัยในห้าง เพราะ Karen นางนี้ ไม่เชื่อเรื่องโควิด ไม่ชอบโดนบังคับให้ใส่หน้ากาก ไม่สามารถเล่าวีรกรรมของ Karen ได้หมดในที่นี้ เพราะมากมายเป็นที่น่าระอา พอๆกับ Covid-19 อาการเอาแต่ใจตัวเองของ Karen ถือว่าเป็นหนึ่งในตองอู เป็นดาวมฤตยูของสามโลกรวมกัน

 

ในยุคนี้ ยุคที่เราต่างเป็นนักข่าวสมัครเล่นกันเกือบทุกคน พฤติกรรมของ Karen จึงฉาวโฉ่มาก เพราะในระหว่างที่นางบันทึกคนอื่น คนผ่านไปมา ก็บันทึกนางมาประจานบนโลกโซเชี่ยลเช่นกัน มาคิดดูอีกที เมื่อเทียบกับ Karen มนุษย์ป้าบ้านเราน่ารักกว่าเป็นกอง อย่างน้อย ป้าก็ไม่สอดส่องหาเรื่องจับผิดคนอื่น ว่ามั้ยๆ

0

มุมสดใสที่ปลายฟ้า…อันเนื่องมาจากเรื่องเมืองเขมร

หวังว่าเพื่อนๆ คงหายขวัญผวาจากเรื่องสาวน้อยเปิดทีวีของเปียกันแล้ว

เลยคิดว่า…เพื่อความต่อเนื่องทางภูมิภาค จะขอเล่าเรื่องของคนเวียดนามให้ฟัง

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าเพื่อนๆ อ่านเรื่องนี้แล้วอาจขำกลิ้งพร้อมปุจฉาว่า “จริงอ่ะ”

ที่ว่า “จริงอ่ะ” คือต้นของต้นของต้นเรื่องเลยคือเราสอนภาษาไทยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คร้าบบบ…ฟังไม่ผิด…หนึ่งที่สอบตกวิชาคาแรคไทยแลงฯ ได้คะแนนรั้งท้ายสุดของชั้นปีนี่แหละสอนภาษาไทยที่ซีแอตเติ้ล

เป็นแนวการสอนแบบเน้นบันเทิง เฮฮา เนื้อหาเบๆ  กอ อะ กะ กอ อา กา ไปตามเรื่อง ไม่ใช่ภาษาไทยแบบซับซ้อน เป้าหมายของแต่ละคอร์สก็แล้วแต่ว่าสอนใคร หลักๆ เลยก็เพื่อให้สื่อสารกับคนไทยได้ อ่านออกบ้าง เขียนได้บ้าง จะสั่งก๋วยเตี๋ยว จะบอกมอไซค์ไปไหนได้ไม่หลงทิศ

แรกเริ่มเลยคือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเจ้าอาวาสวัดอตัมฯ ที่อยู่แถวบ้านเรียกไปสอนภาษาไทยให้เด็กประถมที่โรงเรียนวันอาทิตย์ ปัจจุบันนักเรียนชุดแรกก็เติบใหญ่ บางคนทำงานระดับแมเนเจอร์ในบริษัท Fortune 500 กันแล้ว

ถัดมามีพ่อแม่เอาลูกมาฝากให้เรียนตัวต่อตัว นับได้หลายคนอยู่ บรรดาพ่อแม่คงเห็นว่าครูคนนี้แปลกดี เลยหวังให้ลูกได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ

นักเรียนที่ทนเรียนได้นานที่สุดคือยาหยี หยีเป็นเด็กที่มีพื้นฐานภาษาไทยดีอยู่แล้ว และยังได้เปรียบที่พูดภาษาไทยกับแม่ตลอดเวลา หยีมาเรียนทุกวันพุธอยู่หลายปี เรียนกันบ้าง เล่นกันมากหน่อย พากันเดินหมาบ้าง ตามอัธยาศัยครูกับศิษย์ เริ่มตั้งแต่อายุประมาณสิบขวบ จนเลิกตอนก่อนเข้าเรียนไฮสคูล

สอนหยีนี่ไม่ยากเลย หาหนังสือสนุกๆ ให้อ่าน อ่านแล้วก็เขียนสรุปที่อ่าน หยีอ่านได้หลายเล่มอยู่ มาจบที่เล่มสุดท้ายคือความสุขของกะทิ

อ่านแล้วหยีขัดใจตอนจบ เลยบอกให้เขียนตอนจบเอาเองตามใจชอบ หยีก็เขียนไปตามที่คิดว่าความสุขของกะทิควรจะเป็นเช่นไร

เป็นความภูมิใจของครูหนึ่งอย่างมาก

จากนั้นไม่นาน Bellevue College แถวบ้านก็เรียกไปสอนภาษาไทยสำหรับคนทั่วไป เป็นห้องเรียนภาคค่ำ เราก็จัดหลักสูตรเองตามสบาย ที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องของคลาสนึงโดยเฉพาะ คลาสนี้มีคนลงทะเบียนเรียนสักสิบห้าคนได้ มีตั้งแต่อายุสิบแปดไปจนถึงวัยเกษียณ มีหลายหลายอาชีพตั้งแต่นักเรียนไฮสคูล นักข่าว ไอที ฯลฯ ที่มาเรียนกันก็หลากหลายเหตุผล มีพ่อไทย แม่ไทย เมียไทย จะแต่งงานกับคนไทย ชอบอาหารไทย หรือเพียงเพราะรักเมืองไทยเหลือเกิน เหตุผลที่คล้ายๆ กันเกือบทุกคนคือมาเรียนเพื่อรักษาหรือรื้อฟื้นภาษาไทย เรียนไปเรียนมาก็หายไปสักสี่ห้าคน เหลือเรียนเพลินๆ สักสิบ สิบเอ็ดคน

คลาสนี้มีความท้าทายที่ถือว่าโชคดีที่ได้เจอ เพราะมีนักเรียนเป็นออติสติคถึงสองคน ไปกันคนละขั้ว คนแรกเรียนภาษาต่างประเทศมาแล้วสิบห้าภาษา มาเพิ่มเติมให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สิบหก ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นน้องนุชสุดท้องของห้อง เป็นออติสติคแบบไม่พูดไม่จา ถึงจะสื่อสารกันยากสักนิด แต่น้องก็ตั้งใจเรียนเต็มที่

แม้จะมีความหลากหลายทั้งทางอายุ อาชีพ ประสบการณ์ชีวิต แต่กลุ่มนี้เข้ากันได้อย่างดี การที่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานภาษาไทยมาแล้ว ครูเลยเหมือนเป็น entertainer มากกว่าเป็นครู จัดให้มี field trip ระหว่างเทอม พากันไปกินอาหารไทยเป็นที่สนุกสนาน

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การเรียนย่อมมีวันสุดท้าย ก่อนจากกันเราให้ทุกคนเขียนเรียงความตามถนัดมาคนละเรื่อง แล้วมาสลับกันอ่านของเพื่อนให้ทั้งคลาสฟัง เราก็บอกนักเรียนว่าอย่าห่วงว่าจะต้องเขียนหรืออ่านได้เต็มร้อย ตรงไหนไม่ได้ก็ภาษาอังกฤษแทรกแซมเข้าไป เอาเป็นเราเข้าใจและสื่อสารกันได้เป็นพอ

คลาสวันนั้นอยู่ประมาณกลางๆ เดือนมิถุนายน ปลายฤดูใบไม้ผลิ กำลังจะเข้าหน้าร้อนเต็มทีแล้ว เรานัดให้นักเรียนมาเจอกันที่พาร์คแถวบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมเป็นตู้ยิ่งดูยิ่งเพลินมาเป็นกลางแจ้ง

เวลานั้นพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน อากาศไม่หนาว ไม่ร้อน ท้องฟ้ากำลังโพล้เพล้ ไม่ถึงกับมืด แต่ก็ไม่ได้สว่างแจ้ง บรรยากาศรอบตัวสงบ แต่ไม่ถึงกับสงัด เหมือนหยุดอยู่ใน neutral zone บอกไม่ถูก

ก่อนเริ่มคลาสนักเรียนส่งเรียงความให้เราอ่านก่อนเพื่อให้เราแจกให้ทุกคนผลัดกันอ่าน เมื่ออ่านเรียงความครบทุกฉบับแล้ว เราเจาะจงเลือกให้คุณแอนโทนี่อ่านเรียงความของตัวเองเป็นคนสุดท้ายของวันนั้น โดยไม่ต้องสลับเรื่องกับใคร

คุณแอนโทนี่เป็นคนเวียดนามที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยช่วงหนึ่ง แกตั้งชื่อเรียงความว่า “จนกว่าเราจะได้พบกันอีก”

แกเริ่มอ่านเรียงความเป็นภาษาไทยที่ค่อนข้างชัด น้ำเสียงมั่นคง

เราขอเล่าคร่าวๆ จากความจำ (พร้อม edit) แล้วกันนะ เพราะหาต้นฉบับไม่เจอ

แกบอกว่า…ตอนที่เวียดนามใต้กำลังจะแตก แกอายุประมาณสิบขวบเศษๆ ช่วงนั้นเป็นเวลาของความสับสนวุ่นวาย ครอบครัวแกต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือหนีออกจากเวียดนาม เป็น national dilemma ในเวลานั้น

เย็นวันหนึ่ง ย่าของคุณแอนโทนี่เรียกแกไปกอด ตัดสินใจให้แกออกจากเวียดนามเสี่ยงไปหาอนาคตที่ดีกว่า พร้อมยื่นถุงผ้าใบเล็กเท่าฝ่ามือที่อัดแน่นด้วยเงินก้อนสุดท้ายของย่า มอบให้ไว้เป็นทุนในการเดินทาง ย่าสั่งเสียและสัญญาว่า “อย่าห่วงย่า…แล้วเราจะได้พบกันอีก”

คุณแอนโทนี่ออกจากเวียดนามพร้อมสมาชิกสี่ห้าคนในครอบครัว เดินเท้าเปล่าผ่านประเทศกัมพูชามาประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยคณะแกต้องเดินทางตอนกลางคืนและพักตอนกลางวัน แกบอกว่าเป็นเวลาที่สัตว์ป่าไม่น่ากลัวเท่าคน ใช้เวลาเดินทางนับเดือน นอนกับดินกินกับทรายมาตามทาง เป็นเวลาที่ความแร้นแค้นแสนสาหัสอยู่ครบรูปแบบ จนในที่สุดการรอนแรมจบลงที่ค่ายผู้อพยพที่อรัญประเทศ

คุณแอนโทนี่บอกว่าจะไม่มีวันลืมความรู้สึกเมื่อได้เหยียบแผ่นดินไทย แกบอกว่ามันคือความรู้สึกปลอดภัย มันคือความรู้สึกของความร่มเย็น เป็นความรู้สึกของคนหนีตายเท่านั้นที่จะเข้าใจ

สงครามเวียดนามจบไปนานแล้ว แต่คุณแอนโทนี่ไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทยและคนไทยที่หยิบยื่นความหวังให้คนบ้านแตกสาแหรกขาดเช่นตัวแก

แกไม่ได้พบย่าอีก เพราะย่าเสียชีวิตหลังจากที่แกออกจากบ้านมาได้ไม่นาน

เรียงความมาถึงย่อหน้าสุดท้าย เสียงคุณแอนโทนี่เบาลง ไม่มั่นคงเหมือนตอนเริ่ม…

แม้วันคืนแห่งคำมั่นสัญญานั้นจะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว แต่คุณแอนโทนี่มั่นใจว่าสักวันหนึ่งจะได้พบย่า ได้กอดย่าให้จุใจ…ณ มุมสวยสดใสแห่งหนึ่งแห่งใดที่ปลายฟ้า

1

สวนแนวตั้งที่คอนโดสุขุมวิท

What is your hobby? เป็นจุดเริ่มต้นของสวนแนวตั้งที่คอนโดสุขุมวิท 

เมื่อปี 2018 เราไปร่วมการประชุมประจำปีขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ตอนแนะนำตัวเจอคำถามว่า What is your hobby? ก็อึ้งไปพักหนึ่งว่าเราจะตอบว่าอะไรดีเพราะความจริงเป็นคนบ้างาน เวลานอนก็ไม่กิน เวลากินก็ไม่นอนอยู่แล้ว บังเอิญ….มีต้นกล้วยไม้และต้นบานบุรีที่ระเบียงอยู่ก็เลยพูดไปว่าทำสวน เพื่อนๆ ก็งงว่าทำได้อย่างไรเพราะบ้านเป็น   คอนโดไม่มีที่ดินสักหน่อย ก็เลยตอบอย่างเก๋ไกว่า สวนแนวตั้งจ๋า 

หลักการง่ายๆ กินอะไรปลูกอันนั้นแหละ และไม่ต้องสนใจว่าผักจะสวยงามหรือขนาดใหญ่แบบที่ขายในตลาด ซึ่งต้องใช้เวลาให้สมาชิกในครอบครัวยอมรับสักหน่อยนะค่ะ และลดการซื้อผักที่ส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นผักตกแต่งรส กลิ่นและประดับหน้าจานลงไปได้เพราะใช้น้อยกว่าและช่วยลดปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ลงอีกด้วย

ผักที่ใช้ปรุงอาหารก็จะสด ใหม่และสะดวกเพราะเก็บมาจากระเบียงลดพลังงานจากการขนส่งผักลงอีกด้วย คือ คาร์บอนฟุตฟริ้นส์ (Carbon Footprint) ในการผลิตอาหารก็ลดลงทันที

หลังจากนั้นก็มีงานงอกมาเพิ่มคือต้องใส่ปุ๋ยให้ผักและดอกไม้ แต่เราไม่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมี เกิดเป็นความท้าทายในการทำสวนแนวตั้งแบบธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีต้องหาวิธีทำปุ๋ยหมักในที่จำกัด จึงเกิดเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบกล่องข้างหน้าต่าง ซึ่งได้ช่วยลดปริมาณขยะเปียกจากที่บ้านที่ต้องทิ้งให้ กทม. ไปกำจัดลงได้ถึง 80%

นอกจากนี้ยังเป็นความรู้ที่เรามีประสบการณ์จริงในการปรึกษาหารือกับลุงๆ ป้าๆ ในโครงการหมุนขยะเป็นทุน ที่เทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาครด้วย  

ต้องบอกความจริงกว่าจะผลิตปุ๋ยหมักที่คอนโดได้ก็ต้องฝ่าด่านหลายด่านมากค่ะ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทั้งทัศนคติและพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวอยู่พักใหญ่ เช่น การคัดแยกขยะหลังจากทานอาหารแล้ว อย่าเปิดกล่องหมักปุ๋ยเพราะจะมีกลิ่นรบกวนหรือแมลงบินออกมาข้างนอกถ้ายังไม่ครบ 3 เดือน และไม่ต้องตกใจถ้าเห็นจิ้งจกลงไปกินแมลงในกล่องปุ๋ยหมัก

เวลาคุยกันเรื่องปุ๋ยหมักสมาชิกในครอบครัวก็จะถูกล้อเลียนว่าเราจะทำให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะกทม. ตกงานบ้างล่ะ แต่ตอนนี้สามีเป็นประธานคณะกรรมการบริหารคอนโดมาออกโรงรณรงค์ให้คนในคอนโดมาคัดแยกขยะอย่างจริงจังและสวนของคอนโดได้ใช้ปุ๋ยหมักที่เราทำก็เลยประหยัดไม่ต้องเสียเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี แต่เราก็ยังไม่ได้ลดค่าส่วนกลางของคอนโดนะ

ต่อมาน้ำจากแอร์รั่วช่างแนะนำให้ต่อท่อน้ำออกไปที่ระเบียง และปล่อยทิ้งไป เราก็เลยถามว่าต่อท่อมาลงที่โถน้ำพุได้ไหม คำตอบคือได้แต่น้ำเยอะมากในแต่ละวันน่าจะล้นถ้าไม่ตักทิ้ง อ้าวจะตักทิ้งไปทำไม เราเลยเอามารดผักและดอกไม้ที่สวนแนวตั้งดีกว่า เพราะประหยัดน้ำ หมุนเวียนน้ำแอร์มาใช้ประโยชน์ใหม่และไม่ต้องตักหิ้วน้ำมาไกลไม่เหนื่อยแรง ตอนนี้นโยบายรัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เราก็เลยได้นำประสบการณ์เรื่องนี้เป็นแชร์เวลาพูดถึงการประยุกต์ใช้การพัฒนาแบบนี้ในระดับครัวเรือนหรืออาคาร การพัฒนาแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือลงทุนมากมาย เป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกครัวเรือนสามารถทำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ตอนนี้สวนแนวตั้งที่คอนโดสุขุมวิทมีทั้งให้ชมได้และกินได้ พร้อมทั้งมีข้อมูลว่าสามารถประยุกต์แนวคิดต่างๆ มาใช้ได้อย่างไรด้วย ถ้าผ่านมาแถวนี้แวะมาเยี่ยมเยือนนะค่ะ (อ้อย-จุฑาทิพย์ มณีพงษ์)

1

Episode 2 มาแล้ว เราอยู่เมืองไทยไม่เคยเจออะไรลี้ลับ น่าสะพรึงกลัว ไปกัมพูชาเลยเจอดีซะเลย

ภาพส่วนหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจากการทรมานและสังหารของเขมรแดง ใน Tuol Sleng Genocide Museum
Photo : the Guardian

Episode 2
สมัยนั้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อน การเดินทางไปพนมเปญ เมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเขมรเพิ่งเปิดประเทศ กฎระเบียบทุกอย่างก็ใหม่ เจ้าหน้าที่ก็ใหม่ ทุกอย่างลัดขั้นตอนด้วยยูเอส ดอลล่าร์สหรัฐ ประชาชนก็เพิ่งเดินทางกลับเข้าประเทศจากค่ายผู้อพยพ บ้านเรือนต่างก็ถูกทิ้งให้รกร้างและโดนทำลาย เพราะผู้คนหนีเขมรแดงที่เข้ายึดครองประเทศและเข่นฆ่าคนเขมรด้วยกันเอง บ้านสวยๆ หรูๆ หลายหลังถูกบุกรุกและเข้าไปอยู่โดยคนที่ไม่ใช่เจ้าของ

ตอนยุคเขมรแดง คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ มีความรู้ พูดได้หลายภาษา คนกลุ่ม LGBT และต่างชาติจะถูกทรมานและสังหาร (ถ้าเราอยู่ช่วงนั้นก็คงไม่รอดเพราะคนใส่แว่นแสดงถึงเป็นคนมีการศึกษาสูง)

เมื่อเขมรแดงบุกเข้าพนมเปญในปี 1975 ผู้คนต่างพากันดีใจและต้อนรับเขมรแดง โดยไม่รู้ว่า นั่นเป็นการเริ่มต้นการล้างเผ่าพันธุ์ (Photo: Roland Neveu)

สำหรับเดอะ เนชั่น เพื่อเป็นการประหยัดงบ เรามักจะไปทำข่าวที่เขมรคนเดียวเพราะถ้ามีช่างภาพไปด้วย นั่นแสดงว่า งบที่ใช้ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าสำหรับตั๋วเครื่องบิน ห้องพักและเบี้ยเลี้ยง สมัยนั้น สำนักข่าวของไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเน้นการออกไปทำข่าวต่างประเทศ จะใช้ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเท่านั้น
เราช่วยเนชั่นประหยัดค่าใช้จ่ายมาก โทรหาคุณนายแม่ก็ไม่บ่อย นานๆ ทีหรือบางทีก็ให้พี่ที่เนชั่นโทรแทนเพื่อแจ้งว่า สบายดี

เดอะเนชั่น อยากได้มุมมองข่าวใหม่ๆ (โดยใช้งบน้อยที่สุด :P) ข่าวที่ต้องการคือ ข่าวที่มีผลกระทบกับไทยในทุกด้านและที่ บอกอ ในสมัยนั้นซึ่งก็คือ คุณเทพชัย หย่อง อยากได้มากคือ ข่าวสีสันและที่เกี่ยวกับคน เด็ก ความเป็นอยู่ของประชาชน (Human interest)

เราสนุกสนานกับการทำข่าวมาก ได้คุยกับคนเขมร (ผ่านล่าม) คนเขมรแทบจะทุกคนชอบออกความคิดเห็นและคุยกับคนไทย หลายต่อหลายคนพูดภาษาไทยได้เพราะมาอยู่ในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เขมรหลายปี และมักจะใจดีกับคนไทยเพราะสำหรับคนที่หนีตายจากประเทศของตัวเองและได้รับความช่วยเหลือจากไทย ก็ย่อมจะนึกถึงบุญคุณของประเทศไทย

เราไปทำข่าวคนเดียวก็ไม่ได้นึกกลัวอะไรๆ สิ่งแรกที่ทำเมื่อไปถึงพนมเปญคือ ติดต่อสถานทูตไทยเพื่อรายงานตัว ว่า หนูมาแล้วนะคะ พักที่โรงแรมนี้นั้น ด้วยความที่เป็นนักข่าวประจำกระทรวงต่างประเทศ ก็จะรู้จักทูตและข้าราชการสถานทูต ก็จะได้ข่าวและได้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัย (หลายครั้ง นักการทูตไทยก็แอบฝากคำถามให้เราไปถามฝ่ายเขมรด้วยเพราะเขาจะถามเองจะไม่เหมาะสม 555) อ้อ ได้กินข้าวฟรีก็บ่อย

เขมรเป็นดินแดนแห่งทุ่งสังหาร มีความโศกเศร้าและหดหู่ทุกที่ ถามไปเถอะ ทุกครอบครัวจะต้องมีญาติพี่น้องที่โดนเขมรแดงฆ่าหรือหายสาบสูญ ตามความเชื่อแล้ว ทุกๆ ที่เคยมีคนตายและมีวิญญาณวนเวียนอยู่ทั่วไป เราเชื่อว่า ที่เขมร ต้องมีวิญญาณที่ตายเพราะความทุกข์มากกว่าที่อื่นแน่ แต่ก็ไม่เคยนึกกลัว (ตอนนั้น กลัวคนมากกว่า 555) ก่อนนอนก็ไหว้พระ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง 

โรงแรมที่ไปพักเป็นประจำเป็นโรงแรมเล็กๆ ของคนเขมรอยู่แถววิมานเอกราช ไปพักบ่อยจนคุ้นเคยกับสต๊าฟที่นั่น ค่าห้องไม่แพง น่าจะประมาณ 800 บาทต่อคืน

วิมานเอกราช

ครั้งหนึ่ง สั่งอาหารจากครัว จะสั่งข้าวผัดไก่ แต่ไม่มีใครเข้าใจภาษาอังกฤษเลย (ถ้าไปกินข้างนอก จะใช้วิธีจิ้มรูปในเมนู) ก็เลยต้องทำท่าผัดข้าว ตานี้ จะสั่งว่าใส่ไก่ สั่งว่า ชิกเก้นก็ไม่เข้าใจ ท้ายที่สุด ต้องทำท่าไก่ตีปีกพั่บๆ 555 อีกวัน สั่งข้าวผัดหมู ก็ไม่ยากแล้ว ก็ทำปากหมู พอจะสั่งไข่ดาวก็โชคดีที่ในครัวเขามีไข่อยู่แล้ว ไม่งั้น ก็อาจต้องทำท่าตีปีกและออกไข่

อ่านมาถึงตอนนี้ เพื่อนๆ อาจเคืองเราอยู่ในใจว่า ไม่เข้าเรื่องที่โปรยไว้ซักที 555 ก็ได้ๆ เดี๋ยวจะเคืองกันไปมากกว่านี้

เราพักคนเดียวที่โรงแรมนี้ทุกครั้ง เราก็ไม่เคยเจออะไรน่ากลัวๆ ทั้งๆ ที่สต๊าฟโรงแรมยืนยันว่า ได้ยินเสียงนั่นเสียงนี่อยู่เป็นประจำ หรือมีคนกลับมาจากกินเหล้าตอนกลางคืน เห็นอะไรแว่บไปแว่บมา จนกระทั่ง ….

เมื่อ นสพ. กรุงเทพธุรกิจซึ่งอยู่ในเครือของเนชั่นส่งพี่นักข่าวมือดีให้เดินทางเข้ามาพร้อมกัน หลายคนน่าจะรู้จักพี่บุญรัตน์ อภิชาตไตรสรณ์ ซึ่งทำข่าวต่างประเทศมานาน แปลหนังสือดังๆ ก็หลายเล่ม เราก็ชอบที่ได้เพื่อนร่วมทริปเพราะจะได้เป็นเพื่อนกันและน่าจะได้มุมข่าวใหม่ๆ ข้อมูลและแหล่งข่าวใหม่ๆ

พี่บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

พี่บุญรัตน์กับเราก็พักกันที่โรงแรมเดิม ได้ห้องใหญ่ขึ้นเพราะพัก 2 คน มีเตียงเดี่ยว 2 เตียง พี่บุญรัตน์ก็มีอาวุธคู่กายคือ พิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว(ตอนนั้น โน้ตบุ้กยังไม่แพร่หลาย ของเราก็เป็นโน้ตบุ้กที่ตัวใหญ่และหนักอึ้ง โทรศัพท์ก็มีเครื่องเดียวที่ล็อบบี้ เวลาจะส่งข่าวก็ต้องมาต่อโน้ตบุ้กกับโทรศัพท์ เสียงหมุนโมเด็มดังทั่วล็อบบี้)

คืนแรกๆ ที่ไปพักก็เรียบร้อยดี เช้าก็ออกไปทำข่าวกัน เย็นก็กลับมาที่โรงแรก บางทีก็สั่งอาหารจากในครัวโรงแรม บางทีก็กินจากข้างนอก แต่ก็ไม่บ่อยเพราะกลัวท้องเสียและไปไหนมาไหนตอนกลางคืนก็ไม่สะดวกและไม่น่าจะปลอดภัย)

คืนนั้น พวกเราก็กลับมาที่ห้องพักเหมือนปกติ เรายังไม่ส่งข่าวเลยอาบน้ำก่อน แต่พี่บุญรัตน์นั่งทำงานต่อ พี่เขาเอาโต๊ะเล็กๆ มาวางระหว่างเตียงเรากับเตียงพี่เขา แล้วเอาพิมพ์ดีดมาวางและนั่งบนเตียงของเขาเพื่อพิมพ์งาน เราเลยว่า งั้นเรานอนก่อนนะ พี่บุญรัตน์ก็ว่า ตามสบายเพราะยังพิมพ์งานไม่เสร็จ เราก็เลยหลับไปก่อนโดยนอนตะแคงไปอีกด้าน ไม่ใช่ด้านที่พี่เขานั่งอยู่ 

เราตื่นขึ้นมาอีกทีกลางดึก ไม่รู้กี่โมงเหมือนกัน ไฟยังสว่างอยู่และได้ยินเสียงพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กเป็นระยะ ในใจตอนนั้น เราก็คิดว่า ดึกแล้ว พี่บุญรัตน์ยังทำงานอยู่เลย เราเลยพลิกตัวกลับมาเพื่อจะดูว่า พี่เขายังทำงานอยู่เหรอ ว่าจะทักว่า ดึกแล้ว พอพลิกตัวกลับมา ก็เห็นพี่เขานั่งพิมพ์ดีดที่เดิมโดยไม่เงยหน้า

แต่…..ที่เราเห็นนั่งข้างๆ พี่เขาคือ ผู้หญิงไว้ผมสั้นแค่คอ หน้าม้าเต่อๆ เธอใส่เสื้อคอกระเช้าสีขาวๆ นุ่งผ้าถุงสีหม่นๆ เธอนั่งห้อยเท้าและท้าวแขนทั้ง 2 ข้างพร้อมทั้งชะโงกหน้าไปดูที่พี่บุญรัตน์กำลังพิมพ์อย่างสนใจ เราเห็นภาพเธอชัดมากทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่แว่น (ใครจะใส่แว่นนอนกันบ้างล่ะ) 

ใครอ่านมาจนถึงตอนนี้คงคิดว่า เพื่อนคงลุกจากเตียงขึ้นมากรี๊ดลั่นโรงแรม 555 เปล่าจ้า เพื่อนพลิกตัวกลับไปพร้อมทั้งคิดว่า “ไม่เป็นไร ดีแล้วๆ พี่บุญรัตน์มีเพื่อนแล้ว” แล้วเพื่อนก็หลับไปจนเช้า 5555 (บอกแล้ว เราเป็นคนหลับง่าย)

เช้าวันรุ่งขึ้น เราเล่าให้พี่เขาฟังว่า เมื่อคืนเราเห็นอะไร พี่เขาฟังแล้วก็หัวเราะ เราก็หัวเราะ …. จบข่าว 555 โชคดีมากที่พี่เขาไม่กลัว ไม่งั้นคงได้ย้ายโรงแรมกันบ้างล่ะ 

End of Episode 2
——————————–

#เรื่องยังไม่จบนะ ยังมีเหตุการณ์น่าขนหัวลุกอีก รอ Episode 3 ด้วยเน้อ 

2

Episode 1 : เรื่องเล่าจากเขมร ดินแดนแห่งทุ่งสังหาร เจอมากับตัว อย่าอ่านตอนกลางคืน เตือนแล้วนะ    

เราเริ่มทำงานที่ นสพ เดอะเนชั่น ตั้งแต่ปี 1991 จากเด็กทุ่งบางเขน กระโปรงม่วงที่ไม่เคยไปไหนไกล สมัยประถม-มัธยม (สาธิตเกษตร) ก็เดินทางระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแม่ก็จับใส่รถไปส่งเช้า-เย็น ไม่เคยได้ออกนอกเส้นทาง พอมาเรียนที่อักษรฯ ก็เดินทาง (ส่วนใหญ่โดยรถไฟ) จากบ้านมาจุฬาฯ เท่านั้นเอง ตอนเรียนจุฬาฯ ก็ได้ไปอีสานเพราะทำงานค่าย สจม. แต่ก็ไปเป็นหมู่คณะ ไปสร้างโรงเรียน สร้างแท็งค์น้ำอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ

แต่พอมาอยู่ที่เนชั่น ทำให้มีโอกาสเดินทางไปทำข่าวทั้งในและต่างประเทศหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นการเปิดโลกให้เราอย่างมาก เมื่อแรกเข้า เริ่มงานด้วยเป็นรีไรท์เตอร์ พอตำแหน่งนักข่าวที่โต๊ะต่างประเทศว่าง เราก็เลยย้ายไป หนู (กุลชาดา ชัยพิพัฒน์) เพื่อนอักษรฯ ของพวกเราก็ทำอยู่ที่โต๊ะนี้ด้วย ซึ่งตอนหลังหนูก็ขึ้นเป็น บอกอ  

เมื่ออยู่โต๊ะนี้ ก็ถูกส่งไปประจำที่กระทรวงต่างประเทศซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วังสราญรมย์ แถวสนามหลวง (ตอนนี้ อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา) ด้วยความที่เป็นวังเก่า สถาปัตยกรรมสวยงามและเก่าแก่ทำให้มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับและเจ้านายสมัยก่อน มีข้าราชการที่อยู่เวรตอนกลางคืน เห็นนั่นเห็นนี่กันประจำ

แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าขานกันเท่านั้น เท่าที่จำได้ พวกนักข่าวเองก็ไม่มีใครเคยเจอด้วยตัวเอง (แต่ที่นี่เอง ที่เรารู้จักและเจอ “ผีขนุน” 555)

กระทรวงต่างประเทศ วังสราญรมย์ ปีไหนไม่รู้
(รูป : FB รักสยาม หนังสือเก่า รับซื้อขายหนังสือเก่า)

ในการเดินทางไปข่าวที่ต่างๆ เราก็ไม่เคยพานพบกับสิ่งเร้นลับต่างๆ (มีคนบอกว่า น่าจะเพราะจิตแข็ง แต่เราว่า น่าจะเพราะเราเป็นคนหลับง่าย หลับสนิทได้ในทุกที่ บรรดาผีๆ อาจมาสะกิดแล้วเราไม่รู้ตัวมั้ง) ในขณะที่นักข่าวสายการเมืองหลายคนที่ต้องเดินทางตามรัฐบาลไปจังหวัดต่างๆ จะมีรายชื่อโรงแรมต่างๆ ที่จะไม่พักเพราะมีคนเคยเจอผีมาแล้ว

เราได้รับมอบหมายให้ทำข่าวที่เกี่ยวกับกัมพูชาซึ่งเพิ่งลงนามเซ็นสัญญาสงบศึก (Paris Peace Agreement) การลงนามนำมาซึ่งการปิดค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทยและส่งผู้อพยพกลับประเทศ ตอนนั้น ค่ายใหญ่ที่สุดอยู่ที่อรัญประเทศ เราเลยต้องเดินทางไปมาและไปทำข่าวการปิดค่ายจนหมด สิ่งที่ได้ไปเห็นคือ คนเขมรที่หน้าตาเศร้าสร้อย พักอยู่ในบ้านหลังคามุงจาก ลูกเล็กเด็กแดงเล่นกันสนุกสนานตามประสา เนื้อตัวมอมแมม พ่อแม่ต้องมาเข้าแถวรับอาหารจากองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ

ครั้งหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ทำไมผู้อพยพต้องย้ายที่พัก พวกเขาพากันเดินเป็นแถวๆ จูงลูกจูงหลานและหอบข้าวหอบของเท่าที่มี เราก็ได้แต่นึกถึงไทยว่า อย่าให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเลยเพราะศึกสงครามที่เกิดในเขมรไม่ใช่เพราะถูกรุกรานจากต่างประเทศ แต่เกิดจากคนในประเทศทะเลาะกันเองและแบ่งเป็นฝักฝ่าย (แต่ที่ลุกลามใหญ่โตก็เพราะมีต่างประเทศเข้าแทรกแซงและสนับสนุนฝ่ายต่างๆ)

พอประเทศเขมรกลับเข้าสู่สภาวะ (เกือบ) ปกติ ผู้คนกลับเข้าประเทศ จะมีการเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ก็ด้วยการจัดการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่โดยมีสหประชาชาติและกองกำลังต่างประเทศ เราก็ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปกรุงพนมเปญ เมืองหลวงเพื่อรายงานข่าวช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หลายต่อหลายครั้ง เข้าออก เข้าออก จนพาสปอร์ตพรุนไปด้วยวีซ่าเข้าเขมร ต่อหน้าก็แล้วก็มีแต่วีซ่าเขมร

และช่วงนั้นเองที่เราผู้ซึ่งแคล้วคลาดมานานต้องเจอดีกับสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ บรื๊อออออออ

To be continued : Episode 2

1